นรม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 9, 2017 15:22 —สำนักโฆษก

นรม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่1/2560 วันนี้ (8 พฤษภาคม 2560) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 1/2560 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โอกาสนี้ ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การประชุมวันนี้ถือได้ว่าเป็นการประชุมที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการกระจายงบประมาณสู่ระดับภาคครอบคลุมทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้มีการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และมีแผนงานบูรณาการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างแท้จริง ทั้งนี้ประธานได้ให้นโยบายในการจัดทำงบประมาณดังกล่าว โดยแบ่งเป็นแผนแม่บทระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้การดำเนินการจัดทำงบประมาณฯ ในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมทำให้ประชาชนทุกภาคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนาภาคในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแผนพัฒนาภ่ค ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธานอนุกรรมการ เสนอ โดยประกอบด้วย 5 แนวทาง100 กลุ่มโครงการรวมงบประมาณทั้งสิ้น 253,965.46 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด เป้าหมายของการพัฒนาคือ “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง” มีจุดเน้นจะเป็น Food Valley การค้าชายแดนและโลจิสติกส์ การบริหารจัดการ 5 ลุ่มน้ำ เมืองสมุนไพร ท่องเที่ยวล้านนา MICE เมืองผู้สูงอายุ ศูนย์โรคหัวใจ และเมืองน่าอยู่ ซึ่งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 14 กลุ่มโครงการ วงเงิน 48,663.84 ล้านบาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด เป้าหมายการพัฒนา คือ “หลุดพ้นจากความยากจน สู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง” มีจุดเน้นคือ การบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ชี มูล พัฒนาศักยภาพข้าวหอมมะลิอินทรีย์และพืช สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ การท่องเที่ยวอารยธรรมลุ่มน้ำโขงและการท่องเที่ยวชุมชน การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเฉพาะถิ่น เช่น โรคพยาธิใบไม้ในตับ เมืองสมุนไพรและเมืองน่าอยู่ ซึ่งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 15 กลุ่มโครงการ วงเงิน 50,317.11 ล้านบาท

ภาคกลาง จำนวน 19 จังหวัด เป้าหมายการพัฒนาคือ “เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตตามศักยภาพโดยประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น” จุดเน้นคือ พัฒนาอาหารปลอกภัย ครัวสุขภาพ การบริหารจัดการระบบกระจายน้ำอย่างสมดุล การท่องเที่ยวเมืองเก่าทางน้ำและการท่องเที่ยวชุมชน เมืองผู้สูงอายุ และเมืองน่าอยู่ ซึ่งได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 11 กลุ่มโครงการ วงเงิน 36,046.66 ล้านบาท

ภาคตะวันออก จำนวน 6 จังหวัด เป้าหมายการพัฒนาคือ “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ เมืองผลไม้เมืองร้อนและแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ” จุดเน้นคือพัฒนาต่อยอดระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) โครงข่ายคมนาคม ศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย การบริหารจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ ซึ่งได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7 กลุ่มโครงการ วงเงิน 17,547.21 ล้านบาท

ภาคใต้ จำนวน 9 จังหวัด เป้าหมายการพัฒนาคือ “เป็นฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย” จุดเน้นคือการบริหารจัดการลุ่มน้ำและการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การพัฒนาพืชเศรษฐกิจสำคัญ การส่งเสริมท่องเที่ยวชายทะเลและการท่องเที่ยวชุมชน MICE รวมทั้งเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 26 กลุ่มโครงการ วงเงิน 76,215.25 ล้านบาท

ภาคใต้ชายแดน จำนวน 5 จังหวัด เป้าหมายการพัฒนาคือ “พัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม” จุดเน้นคือ พัฒนาพืชเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาด่านสำคัญเชื่อมตอนใต้ของมาเลเซีย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ เมืองเก่าและท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง การแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุ ปะการังเทียม ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และการขับเคลื่อนการพัฒนาสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 24 กลุ่มโครงการ วงเงิน 25,175.37 ล้านบาท

ตอนท้ายของการประชุม ประธานได้กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงต่าง ๆ และตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันจัดทำแผนภาคทั้ง 6 ภาค จนกระทั่งสามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ พร้อมทั้งขอให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปพัฒนาต่อยอดแรงงานทุกระดับให้มีความสามารถเพื่อรองรับตลาดแรงงานใน 6 ภาค ดังกล่าวได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

**********************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ