นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 แก่นักลงทุนใน

ข่าวทั่วไป Thursday June 22, 2017 15:14 —สำนักโฆษก

งาน“Thailand’s Big Strategic Move”

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 แก่นักลงทุนในงาน“Thailand’s Big Strategic Move”

วันนี้ (22 มิ.ย. 2560) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand's Big Strategic Move” ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบกับผู้ลงทุน บุคคลในภาคการเงิน และตลาดทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในงาน “Thailand’s Big Strategic Move” ถือเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะได้แสดงถึงนโยบายและทิศทางในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อผู้ลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะกองทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยขณะนี้รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบเป้าหมายสำคัญครอบคลุมทั้งในด้านความมั่นคง ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้สร้างฐานในการพัฒนาโดยใช้โมเดล“ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อก้าวไปสู่อนาคตของประเทศใน 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” นี้ เป็นโมเดลเศรษฐกิจ ที่เน้นการสร้างคุณค่าและเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ประกอบด้วยภารกิจหลัก คือ (1) การเตรียม “คนไทย 4.0” สู่ประเทศโลกที่ 1 (2) การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ (3) การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (4) การสร้างความเข้มแข็งในวิสาหกิจไทย (5) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (6) การสร้างความเจริญเติบโตที่กระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นผ่านจังหวัดถึงกลุ่มจังหวัด (7) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ (8) การสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันกัน (9) การบูรณาการอาเซียน และการเชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก และ(10) การขับเคลื่อนประเทศผ่านกลไก “ประชารัฐ” และระบบดิจิทัล

การผลักดันประเทศไปข้างหน้า ไม่สามารถทำได้ด้วยการสั่งการของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องทำแบบบูรณาการไปทุกภาค ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจ และภาคประชาชน/ประชาสังคม รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันกลไก “โครงการประชารัฐ” เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ทำงานร่วมกันช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแบบบูรณาการทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐานและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีคณะทำงานทั้งในส่วนที่เน้นสร้างการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ (2) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE (4) การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ (5) การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) (6) การพัฒนา การเกษตรสมัยใหม่ (7) การสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ

โดยอีกส่วนจะเน้นการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งประกอบด้วย (1) การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (2) การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (3) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (4) การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ (5) การพัฒนาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยการทำงานของทั้ง 12 คณะทำงานนี้ มุ่งหวังให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างการเจริญเติบโตทั้งภายในและภายนอกอย่างยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายที่สำคัญไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกได้จัดอันดับการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ (Doing Business 2017) ซึ่งในปี 2559 ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 46 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้น 3 อันดับจากปีก่อนหน้า การชำระภาษี และการคุ้มครองสิทธินักลงทุนรายย่อย ก็ได้มีการปรับปรุงแล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เพื่อรองรับการประเมินอีกครั้งในปีนี้

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ (1)อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.8 ดีขึ้นจากอัตราร้อยละ 3.2 ในปี 2559 (2)อันดับความสามารถในการแข่งขัน โดยสถาบัน IMD World Competitiveness Center จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 61 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งวัดจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศไทยดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 2558 เป็นอันดับที่ 28 ในปี 2559 และล่าสุดดีขึ้นเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2560 (3)ในด้านสังคมและคุณภาพชีวิต World Happiness Report 2017 ได้รายงานค่าดัชนีความสุขโลกพบว่า คนไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 33 ในช่วงปี 2556 - 2558 เป็นอันดับที่ 32 ในช่วงปี 2557 - 2559 และอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เมื่อเทียบระหว่างช่วงปี 2548 - 2550 กับช่วงปี 2557 – 2559

สิ่งที่สะท้อนถึงขีดความสามารถในทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนี้คือ การที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ มีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 198 ราย โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 78 ลงทุนในอาเซียน และร้อยละ 59 ลงทุนใน CLMV อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจโดยอาศัยศักยภาพของประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงจุดกลางภูมิศาสตร์ของอาเซียน คือ การขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงระหว่างอาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ที่มีตัวเลข GDP รวมกันกว่า 1 ใน 3 ของ GDP โลก โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการออกกฎหมาย พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้เป็นรูปธรรมและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมององค์ประกอบและผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ

นอกเหนือจากการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว รัฐบาลยังมุ่งเน้นการปฏิรูป “คน” ให้มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศหรือพัฒนาประเทศหรือที่เรียกว่า Smart Thai ซึ่งก็คือ คนไทย 4.0 ที่เน้นหลักคิด มีความคิดพื้นฐานที่เป็นตรรกะ วิเคราะห์ได้ ตลอดจนมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ รวมไปถึงการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงต้องมีการรับรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ชัดเจน มีความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องสร้างความสมดุลกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยทุกภาคส่วนต้องสื่อสารในเรื่องดังกล่าวให้ตรงกัน สำหรับหน่วยงานในภาคตลาดทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั่วไป ก็ขอให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ไทยแลนด์ 4.0 ให้ดีเพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาธุรกิจและบุคลากรของตนไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้รัฐบาลได้เริ่มต้นดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน เพื่อให้ประเทศไทยมีรากฐาน ที่มั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณนักลงทุนที่ยังคงให้ความสนใจต่อประเทศไทย และขอบคุณตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้จัดงานขึ้นในวันนี้ และฝากถึงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชนอื่น ๆ และนักลงทุนทุกคน ที่จะได้ช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ