นบข.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด

ข่าวทั่วไป Friday August 4, 2017 15:31 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประชุมนบข.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด เตรียมให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว-ให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว 1 หมื่นบาทต่อตันขึ้นไป

วันนี้ (4 ส.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลการประชุมโดยสรุปดังนี้

นบข. รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2560/61 โดยการส่งออกข้าวในปัจจุบัน ไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วยอินเดีย ซึ่งคาดว่าในปี 2560 นี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ปริมาณ 10-11 ล้านตัน สำหรับสต็อกข้าวโลกและการบริโภคข้าวก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก เมื่อดูตัวเลขของไทยจากประมาณการล่าสุดจะเห็นได้ว่า พื้นที่การเพาะปลูกของไทยในปีนี้มีลดลง ทำให้ประมาณการผลผลิตปี 2560 ลดลงจากปี 2559 ถึงกว่าร้อยละ 7 ซึ่งการที่พื้นที่เพาะปลูกลดลงและผลผลิตลดลง จะทำให้มีผลต่อราคาส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลระบายสต็อกข้าวออกไปจนสต็อกข้าวของรัฐบาลเกือบจะหมดแล้วนั้น ได้ทำให้ราคาข้าวสะท้อน ยกระดับราคาสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิ ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 10,000 – 12,500 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกข้าวเหนียวอยู่ที่ 9,300 – 12,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 7,700-8,500 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานี 9,200-9,500 บาทต่อตัน ซึ่งจะเห็นแนวโน้มราคาที่ขยับสูงขึ้นกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะส่วนหนึ่งเนื่องจากสามารถที่จะบริหารจัดการตามแผนข้าวครบวงจรตามนโยบายของ นบข. ที่ให้ลดพื้นที่การปลูกข้าว จนสามารถทำให้การปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งการระบายข้าวที่ทำให้ราคาข้าวขยับขึ้น

นบข. ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61 (ด้านการตลาด) หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอเรื่องการปลูกข้าวไปแล้ว วันนี้ นบข. ได้พิจารณาเรื่องการตลาดรวม 3 โครงการ ตามที่ นบข. ได้ให้ความเห็นชอบโครงการไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ไปจัดทำรายละเอียดของโครงการ ซึ่งวันนี้ นบข. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. มาตรการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร คือกลุ่มสหกรณ์การเกษตร มีหน่วยงานรับผิดชอบคือกรมส่งเสริมการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเป็นการขอสินเชื่อเพื่อนำไปใช้รวบรวมข้าว และแปรรูปข้าว วงเงินสินเชื่อ 12,500 บาท มีเป้าหมายคือสามารถที่จะซื้อข้าวให้ชะลอการขายได้ ให้นำมาแปรรูปข้าวได้ มีเป้าหมายรวม 2.5 ล้านตัน วงเงินงบประมาณที่ขออนุมัติคือ 406.25 ล้านบาท โดยที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบและให้จัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2559 ที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีในอัตราร้อยละ 3 ให้โรงสีเก็บข้าวไว้ 2-6 เดือน ตามระยะเวลาที่เก็บข้าวแต่ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งโครงการมีวงเงินชดเชย 940 ล้านบาท มีเป้าหมายให้โรงสีสามารถตรวจสอบได้ตามกำลังของโรงสี 8 ล้านตัน ในข้าวทุกชนิดที่โรงสีสามารถเข้ามาช่วยดูดซับได้ โดยวงเงินแบ่งเป็นค่าดอกเบี้ยประมาณ 937 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงานประมาณ 2.5 ล้านบาท ซึ่งนบข. มีมติเห็นชอบและให้จัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีและให้ตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับข้าวที่จะออกมาปริมาณมากในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2560

3. มาตรการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีของ ธ.ก.ส. เพื่อช่วยเหลือด้านราคา ซึ่งในทุกปีที่ผ่านมาจะมีการพิจารณาราคาข้าว หรือวงเงินที่ ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ต่อตัน โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในปีที่ผ่านมาคือประมาณร้อยละ 90 ของราคาตลาด ในปีนี้ราคาตลาดขยับสูงขึ้นดังนั้นราคาที่ ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้กับเกษตรกรก็จะขยับขึ้นด้วย เป็นประมาณ 10,000 บาทขึ้นไปต่อตันสำหรับข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้ นบข. ได้เห็นชอบในกรอบหลักการ แต่ยังไม่ได้สรุปราคาที่ชัดเจน เพราะมีสถานการณ์น้ำท่วมทำให้ยังไม่สามารถประมาณการผลผลิตได้อย่างถูกต้อง

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานในเบื้องต้นว่า จากที่ลงพื้นที่ครั้งล่าสุดมีพื้นที่นาข้าวที่เสียหายประมาณ 4.7 ร้านไร่ เมื่อทอนเป็นปริมาณข้าวจะได้ที่ 1.5-2 ล้านตัน ทั้งนี้ ได้ประมาณการข้าวหอมมะลิไว้ที่ 8 ล้านตัน และข้าวเหนียว 6 ล้านตันกว่า ๆ รวมประมาณ 14-15 ล้านตัน ซึ่งถ้าลดลงไป 2 ล้านตันก็จะทำให้ราคาขยับขึ้นอีก นบข. จึงขอดูสถานการณ์ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 ก่อน โดยวันนี้ นบข. ได้ประมาณการไว้ว่าอย่างน้อยจากที่เห็นราคาขยับสูงขึ้นนี้ ในปีนี้ ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรนั้นจะสูงกว่าปี 2559 แน่นอน โดยจะเริ่มที่ 10,000 บาทขึ้นไปต่อตันสำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว” ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ นบข. ได้เห็นชอบค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าค่าขึ้นยุ้งในช่วงแรกเมื่อเกษตรกรไปกู้เงิน ธ.ก.ส. จะจ่ายให้ก่อน 1,000 บาทต่อตัน และจะจ่ายให้หลังจากที่ชำระหนี้อีก 500 บาทต่อตัน เพื่อเป็นค่าฝากเก็บข้าว นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร คือค่าเก็บเกี่ยวให้เกษตรกรไม่เกิน 12,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งค่าเก็บเกี่ยวให้เกษตรกรก็ยังคงมีอยู่ในปีนี้ ดังนั้น เมื่อรวมวงเงินช่วยเหลือในปัจจุบันทั้งค่าช่วยเหลืออื่น ๆ ตั้งแต่ค่าฝากเก็บและค่าเกี่ยวข้าวแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจะมีรายได้อยู่ที่ตันละ 14,000 กว่าบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับราคา ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะขอประเมินสถานการณ์ผลผลิตข้าวและน้ำท่วมอีกครั้ง ทั้งนี้ ยืนยันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการแน่นอน มีค่าขึ้นยุ้ง ค่าเกี่ยว และราคาจะดีกว่าปีที่ผ่านมาทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว

-----------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ