นรม.รับฟังบรรยายสรุปรายงานความก้าวหน้า และความเป็นมาของการออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย คาดว่าเปิดให้บริการปี 62

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 16:20 —สำนักโฆษก

นรม.รับฟังบรรยายสรุปรายงานความก้าวหน้า และความเป็นมาของการออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย คาดว่าเปิดให้บริการปี 62

โดยได้นั่งรถรางลอดอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีสนามไชย ไปยังสถานีอิสรภาพ และรับรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองแห่ง

วันนี้ (11 สิงหาคม 2560) เวลา 09.00 น.ณ สถานีสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะฯ โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวรายงานและสรุปรายงานความก้าวหน้า ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และนั่งรถรางลอดอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีสนามไชย ไปยังสถานีอิสรภาพ และรับรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของสถานีรถไฟฟ้าทั้งสองแห่ง

ทั้งนี้ พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วน ต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มีระยะทางรวมประมาณ 27 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงหัวลำโพง – บางแค ประกอบด้วยโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 7 สถานี รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจรจำนวน 2 แห่ง 2) ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ประกอบด้วยโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 8 สถานี โดย รฟม. ได้มุ่งเน้นออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ ให้มีความกลมกลืนกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ ได้แก่ สถานีสนามไชย มีการออกแบบโดยจำลองท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ให้ความรู้สึกที่งดงาม ตระการตา สถานีอิสรภาพ มีการตกแต่งภายในเป็นลักษณะเสารูปหงส์ ซึ่งถือเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์และเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ สื่อถึงวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร สถานีวัดมังกร มีการออกแบบสถาปัตยกรรมจีนมาผสมผสานกับรูปแบบยุโรป หรือเรียกว่าสไตล์ชิโนโปรตุกิส สอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีการค้าชาวจีน สภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น เยาวราช และสถานีสามยอด มีการออกแบบภายนอกสถานีเน้นสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยยึดรูปแบบตามสไตล์ชิโนโปรตุกิส ให้สอดคล้องกับอาคารริมถนนเจริญกรุง โดยปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม 94.62% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560) ซึ่งขณะนี้ BEM ได้จัดซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ประเทศเยอรมนี จำนวน 35 ขบวน และคาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถ ช่วงหัวลำโพง – บางแค ได้ในปี 2562 และเปิดเดินรถ ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ได้ในปี 2563

ทั้งนี้ รฟม. มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ที่จะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพและครบวงจร เป็นทางเลือกของการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยสอบถามข้อมูลและติดตามข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ www.mrta.co.th และ เฟซบุ๊ค การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ โทร 0 2716 4044

อนึ่ง หลังจากรับฟังกล่าวรายงานและสรุปรายงานความก้าวหน้าเสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้รับมอบ เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากตัวแทนผู้บริหาร กลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำนวน 5,000,000 บาท

........................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ