นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 16, 2017 15:48 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกำชับจัดทำงบประมาณครอบทุกมิติ และเน้นพัฒนาพื้นที่ระดับภาคเป็นไปอย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 ส.ค.60) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้ง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และแนวทางจัดทำงบประมาณตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2562 อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 1,600 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ชั้น 1 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

การประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี (1 ส.ค.60) ที่มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณและการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยตามปฏิทินงบประมาณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายในการจัดทำงบประมาณฯ เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนและจัดทำคำขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่มีการบูรณาการใน 3 มิติ ได้แก่ มิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) มิติบูรณาการ (Agenda) และมิติพื้นที่ (Area) รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 - 2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และแผนแม่บทอื่น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สามารถขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในระดับภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และมีการจัดสรรงบประมาณที่มีการบูรณาการงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ระดับภาคที่มีความสอดคล้องกัน

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ส่วนรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ รายการเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ

ส่วนยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีจำนวน 6 ภาค ได้แก่ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ซึ่งแต่ละภาคจะนำยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาพื้นที่และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชี้นำเพิ่มเติม ทั้งในมิติบูรณาการ (Agenda) และมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอจัดสรรงบประมาณลงในภาค/พื้นที่อย่างเหมาะสมาต่อไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยเน้นให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะต้องมีการบริหารจัดการและใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของการพัฒนาประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศภายใต้พลังประชาชนในรูปแบบประชารัฐ เพื่อไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และทำให้ประเทศไทยสามารถยืนอยู่บนสังคมประชาคมโลกในจุดที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยรัฐบาลได้น้อมนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปฏิบัติ รวมทั้งการทำงานภายใต้กรอบกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 - 2564) นโยบายสำคัญของรัฐบาล และแผนแม่บทอื่น ๆ โดยได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ และจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ประเทศที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนาในระดับโลก ให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิ ยืนอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีในเวทีและสังคมโลก เช่น การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขและพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของ UNDP ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ กำหนดวาระการพัฒนาในระดับโลก 17 ข้อ ตั้งแต่การขจัดความยากจน ความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่เท่าเทียม ไปจนถึง สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และความร่วมมือพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการมุ่งไปสู่ประเทศพัฒนานั้น ไม่ใช่มีเพียงยุทธศาสตร์การพัฒนาในกรอบระยะเวลาต่าง ๆ จะสำเร็จได้ แต่ประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป รัฐบาลจึงพยายามให้ทุกภาคส่วนปรับจากประเทศไทย 2.0 ในปัจจุบัน ที่ลงแรงมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อย ไปสู่ประเทศไทย 3.0 และประเทศไทย 4.0 ในที่สุด ให้ใช้เครื่องมือและเครื่องทุนแรงที่มีเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เพื่อทำให้ลงแรงน้อยแต่ได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น เพื่อประเทศไทยจะได้ก้าวทันกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงระบบงบประมาณว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอให้สำนักงบประมาณปรับปรุงในเชิงโครงสร้างความคู่กับส่งเสริมให้มีการบูรณาการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้แผนงานบูรณาการ และให้จำแนกงบประมาณเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มงบกลาง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ และงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เพื่อให้สะท้อนค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะต้องจ่ายเป็นประจำ และค่าใช้จ่ายที่มาจากภารกิจในเชิงยุทธศาสตร์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตระหนักถึงจุดอ่อนของการบริหารจัดการภาครัฐของไทย คือ ขาดการบูรณาการในมิติต่าง ๆ จึงได้ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการตามวาระการพัฒนาที่สำคัญต่างๆ และมีการบูรณาการตามมิติพื้นที่ แต่ทั้งสองมิติยังไม่เชื่อมโยงอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น การจัดทำงบประมาณจากนี้ไป ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ต้องเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่กับเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์และวาระสำคัญต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้มองการพัฒนาพื้นที่ในระดับภาคเป็นกรอบในเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ต้องคำนึงและพิจารณาถึงศักยภาพและขีดความสามารถของแต่ละภาคประกอบการดำเนินการ ทั้งเรื่องของคน วัตถุดิบ อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ฯลฯ เพื่อให้พื้นที่ระดับภาคมีการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ประชาชนมีรายสูงขึ้น และเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างเท่าเทียม นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ระดับภาคอย่างยั่งยืน โดยปฏิทินงบประมาณและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สิ่งที่มีความพิเศษอย่างชัดเจน คือ กระบวนการงบประมาณของปีงบประมาณ 2562 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จากเดิมที่เริ่มต้นในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน และภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้จะต้องมีการทำแผนพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าแต่ละภาค จังหวัด ต้องพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อภาพรวมของประเทศไทยมีการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาฯ และแผนอื่น ๆ ที่วางไว้ เมื่อได้ภาพระดับภาค จังหวัดแล้ว ในเดือนตุลาคมจึงทำกระบวนบูรณาการงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นจุดเริ่มให้เกิดกระบวนการวางแผนระดับพื้นที่ ในส่วนภาคแรกของยุทธศาสตร์จัดสรรฯ ซึ่งมีการนำเนื้อหาของแผนพัฒนาภาค ตามแผนฯ 12 มาบรรจุไว้ ส่วนที่สองจะเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณพื้นที่ระดับภาค เปรียบเสมือนประเด็นชี้นำให้หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง จังหวัด และ อปท. นำไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน แผนบูรณาการ แผนยุทธศาสตร์ และคำของบประมาณ ซึ่งการทำในลักษณะนี้ถือเป็นปีแรก จึงขอให้หน่วยงานต่างๆ นำไปคิดต่อว่าในแต่ละพื้นที่ทั้งในระดับภาค และระดับจังหวัด แต่ละหน่วยงานจะวางภารกิจของตนเองอย่างไร ให้ตอบสนองทั้งมิติ function agenda และ area

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญในการจัดทำงบประมาณ ปี 2562 ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเป็น 6 ยุทธศาสตร์ 36 ประเด็นการพัฒนา ดังนี้ 1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ประกอบด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามประเพณีการปกครองของไทย รัฐบาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งยวดในอันที่จะเชิดชูสถาบันนี้ไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป คือ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน รวมทั้งเร่งขยายผลโครงการตามแนวพระราชดำริและตามหลักการทรงงาน การปฏิรูปกลไกการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง สามารถขจัดคอรัปชั่น และมีกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ขณะนี้มีความก้าวหน้าในระดับที่น่าพอใจ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ต้องน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา” มาเป็นหลักในการพัฒนาพื้นที่ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม หน่วยงานต้องสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ตลอดจนการให้บริการด้านสาธารณสุขและส่งเสริมการศึกษา จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ประเด็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายถือปัญหาที่สั่งสมมามากกว่า 20 ปี ขณะนี้รัฐบาลต้องการดำเนินการแก้ไขให้เป็นระบบ เริ่มจากการออก พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ต่อไปนี้กระบวนการด้านเอกสารของคนต่างด้าวต้องมาจากประเทศต้นทาง การเข้างาน การย้ายงาน ต้องทำให้เป็นระบบ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลดีกับทั้งผู้จ้างและตัวแรงงานต่างด้าว การป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย ภัยเกี่ยวกับความมั่งคงทางทะเล ภัยพิบัติขนาดใหญ่ หรือโรคระบาดร้ายแรง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศ รวมทั้งต้องมีการวางระบบและเตรียมการรองรับให้สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที

2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันจากด้านต้นทุน ซึ่งเดิมประเทศไทยอาศัยแรงงานราคาถูก แนวโน้มดังกล่าวถูกจำกัดโดยกระแสโลกาภิวัตน์ และกระบวนการ Global Supply Chain ผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ อาจมีส่วนประกอบจากแหล่งผลิตจากหลายประเทศได้ การอาศัยแรงงานราคาถูกแต่เพียงปัจจัยเดียวจึงไม่สามารถกระทำได้ในปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โครงข่ายโลจิสติกส์สำหรับอนาคต ต้องมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ พัฒนาผู้ประกอบการระดับ SMEs พัฒนาศักยภาพการผลิตทางการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ขณะเดียวกันในเรื่องการเกษตร รัฐบาลได้ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งสำเร็จไปในระดับหนึ่ง ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ต้องมีการเสริมศักยภาพเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ด้านการท่องเที่ยวและภาคบริการ ขณะนี้ได้จัดเป็นกลุ่ม Cluster ซึ่งดูแล้วมีความหลากหลายและสามารถดึงดูดเพียงพอให้เกิดการท่องเที่ยวในภูมิภาค สิ่งสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐาน มีจิตสาธารณะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามอัตลักษณ์ไทย มีทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ตลอดจนต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ด้านโลจิสติกส์ขณะนี้โครงการที่อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร จำนวน 5 โครงการ รถไฟทางคู่ ขนาดมาตรฐาน 4 โครงการ ซึงการก่อสร้างรถไฟทางคู่นี้ส่วนหนึ่งเป็นการเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจจากตะวันออกสู่ตะวันตก และลงใต้สู่การเชื่อมโยง One Belt-One Road นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน 8 เส้นทาง คือ สายสีแดงอ่อน ส้ม ชมพู เหลือง ม่วง น้ำเงิน เขียวเข้ม ส้ม Airport line ส่วนต่อขยาย และก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สาย สายบางปะอิน–สระบุรี–นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สายนครปฐม–ชะอำ ทางพิเศษสายศรีรัช –วงแหวนรอบนอก สายพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 13 สายทาง และรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 3 สายทาง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท สนับสนุนแหล่งเกษตรและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีการขยายท่าอากาศยานและท่าเรือสำคัญเพื่อเป็นประตูขนส่งของอนุภูมิภาค CLMV พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ 2 โครงการ พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าในชายแดน 9 จังหวัด สถานีขนส่งสินค้า 8 เมืองหลัก นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประเด็นที่ควรดำเนินการต่อ คือจะต้องมีการวางแผนพัฒนาพื้นที่และศูนย์กระจายสินค้าตามโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นใหม่ ให้มีการกระจายความเจริญออกจากกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองใหญ่และเมืองรองตามโครงข่ายที่เกิดขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามวางรากฐานเพื่อนำประเทศไปสู่ยุค 4.0 โดยรัฐบาลได้ดำเนินการแก้กฎหมาย 7 ฉบับ เพื่อลดอุปสรรค และเกิดการพัฒนาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าภาครัฐไทยจะมีการบริหารจัดการแบบรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ โครงการที่ได้เริ่มดำเนินไปแล้ว เช่น การลดสำเนากระดาษเพื่อบริการประชากร ฯลฯ

3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน อาทิ รัฐบาลมีกรอบแนวคิดในการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคนที่มิใช่มุ่งแต่จะเฉพาะพัฒนาคนในวัยเรียนเท่านั้น แต่ต้องปูพื้นตั้งแต่แรกเกิด โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องก้าวข้ามภารกิจในการจัดการศึกษาไปสู่การเป็นผู้วางแผนกำลังคนของประเทศร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในอนาคต ต้องเตรียมการสำหรับสาขาวิชาที่จะทำให้ประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ต้องเตรียมคนสำหรับอุตสาหกรรมศักยภาพ ต้องมองว่าคนไทยในศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะพึงประสงค์อย่างไร เช่น มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ ควบคู่กันไป คนไทยต้องมีศีลธรรมตามหลักศาสนาของตน มีความเป็นไทยที่ดีงาม และมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมส่วนรวม นอกจากนี้ ลักษณะคนไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ต้องมีสุขภาวะที่ดี รู้จักการดูแลสุขภาพ การเสริมสร้างสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับระบบบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการปฐมภูมิให้มากยิ่งขึ้น หากประชาชนในพื้นที่เจ็บป่วยเล็กน้อยก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนนี้จะช่วยลดความแออัดการเข้ารับบริการได้ระดับหนึ่ง

4) ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเจริญเติบโตจากภายใน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมจะต้องดำเนินมาตรการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางด้านสังคมควบคู่กันไป ที่ผ่านมารัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการพัฒนาสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้สินค้า OTOP ในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน สามารถดึงดูดให้เกิดความต้องการสินค้า มีกระบวนการผลิตที่สามารถควบคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐานได้ และเป้าหมายสูงสุด คือ OTOP ไทย สามารถไปสู่สากล การพัฒนาระบบประกันสุขภาพเป็นอีกกลไกหนึ่งในการช่วยเหลือให้ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงต้องประสบปัญหาทางการเงินเมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดภาวะเจ็บป่วย โดยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติต้องการประเทศต่างๆ นำไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งรัฐบาลจะมีการพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงการบริการจัดการให้เกิดความยั่งยืน ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ รวมถึงการเตรียมการรองรับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแล อปท. และจังหวัด กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมกันคิดต่อว่าจะวางระบบอย่างไรให้เหมาะกับสังคมไทย

5) ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การบริหารจัดการน้ำ ขณะนี้จึงได้สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำภายใต้กำกับสำนักนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ คือ ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันเป็นเจ้าภาพให้เกิดการจัดทำโครงการให้ครอบคลุมทั้งระบบการกักเก็บน้ำ ระบบการกระจายน้ำ น้ำบาดาล และระบบสูบน้ำ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงประชาชนมากที่สุด ต้องเร่งรัดให้มีการจัดทำและวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรน้ำให้เป็นระบบ ให้มีแผนที่น้ำ เส้นทางน้ำ ที่สามารถใช้เป็นฐานในการวางแผนและบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ หรือเป็นลุ่มน้ำ รวมทั้งเตือนภัยหรือป้องกันภัยพิบัติได้ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้ยืนต้นภายในบริเวณบ้าน หรือในสวนสาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของประเทศ และหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ ต้องลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลจากก๊าซและน้ำมัน ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพื้นที่ต้องมองหาโอกาสในการผลิตพลังงานจากชีวมวล แสงแดด และลม ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงานของประเทศได้ และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในส่วนนี้ถือเป็นข้อปฏิบัติที่ประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธะสัญญา

6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนและพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ต้องมุ่งเน้นในการปรับความคิดข้าราชการ บุคลากรของรัฐให้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” นำเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลมาเสริมการทำงาน ต้องสร้างระบบให้ข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและต้องทันสมัย โดยคำนึงถึงการทำงานระหว่าง คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ที่จะต้องเตรียมพร้อมและก้าวเดินไปด้วยกัน การปรับปรุงระเบียบต่างๆ ปฏิรูปกฎหมาย ต้องการมุ่งเน้นให้กฎหมายมีการอำนวยความสะดวก และดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ไว้วางใจ กฎหมายต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนของหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นการต่อยอดจากเดิมที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ซึ่งในปัจจุบันพัฒนามาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจตามการจัดอำดับของธนาคารโลก การพัฒนาขั้นต่อไป ทุกหน่วยงานต้องมีกระบวนการเพื่อยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Citizen-centric Services) ต้องจัดให้มีช่องทางการให้บริการที่สะดวก ทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย ลดขั้นตอน ระยะเวลา การใช้เอกสาร และตอบสนองต่อข้อเรียกร้องได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคว่า ขอให้ทุกส่วนราชการคิดหาแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ระดับภาคให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการใช้จ่ายงบประมาณต้องเชื่อมโยงทั้งในมิติกระทรวง/หน่วยงาน (Function) มิติบูรณาการ (Agenda) และมิติพื้นที่ (Area) และดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาค ทุกจังหวัด ทุกท้องถิ่น ที่ขอรับงบประมาณ คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ จุดเน้นของรัฐบาล และการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค อย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้รัฐนาวาของประเทศขับเคลื่อนไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ