รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 7/2560

ข่าวทั่วไป Tuesday September 5, 2017 15:33 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เผยผลการประชุมในวันนี้ในหลายเรื่องมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก เช่น เรื่องของ ICAO IUU และการจัดระเบียบริมฝั่งโขงให้มีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น

วันนี้ (4 กันยายน 2560) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 7/2560

ภายหลังเลิกการประชุมเวลาประมาณ 10.30 น. พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาหลายเรื่อง ซึ่งมีความคืบหน้ามากพอสมควร และเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ มีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างบูรณาการด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายหน่วยงาน เนื่องจากบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาเรื่องการบินพลเรือน ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ เรื่องแรก การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ในภาพรวมมีความคืบหน้าไปมาก โดยล่าสุดมีผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหภาพยุโรประหว่างวันที่ 3 - 17 กรกฎาคม 2560 โดยทางสหภาพยุโรปมีความพึงพอใจต่อความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตามกรอบการบริหารจัดการ IUU โดยจะมีการดำเนินการในประเด็นสำคัญ ๆ เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลไทยได้แก้ไข พรบ. เรือไทย พรบ. การเดินเรือน่านน้ำไทย โดยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมเรือที่เกี่ยวกับเรื่องการเพิกถอนทะเบียน ได้แก่ เรือที่ถูกพักใช้ใบทะเบียนหรือใบอนุญาต ซึ่งทางการไทยจะดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น ในเรื่องของการตรวจสอบประวัติการทำประมง ตรวจสอบประวัติเรือ ตรวจสอบประวัติเจ้าของเรือและประเภทการใช้เรือมากขึ้น โดยจะกำหนดระเบียบปฏิบัติภายใต้ พรก. เรือไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล รวมถึงยกร่างกฎหมายภายใต้ พรก. ประมง 16 ฉบับ โดยจะมีการดำเนินการติดตามสถานะเรืออีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำคัญตามข้อเสนอของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตามจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบ และควบคุมเรือทั้งระบบ แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจสอบและติดตามเรือได้เพิ่มเติม และยังมีอีกหลายเรื่องที่ดำเนินการ โดยมีการพัฒนาระบบ IT รองรับปัญหาการติดตามเรืออีกด้วย ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้พยายามดำเนินการให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการจัดระเบียบเพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการทำประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลได้ขอให้คนทำการประมงทำความเข้าใจในกฎกมายและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมต่อประเทศชาติ โดยทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ทางกรมประมง ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังในทุกมิติให้ได้ เพื่อไม่ให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมประมงไทยทั้งระบบได้รับผลกระทบในภาพรวมอีกต่อไป

โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดจากการปล่อยปะละเลยมาเป็นเวลานาน ทางรัฐบาลก็มีความพยายามอย่างมากในการที่จะแก้ปัญหาและกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันได้เดินหน้าแก้ไข แม้สหรัฐอเมริกายังคงระดับบความน่าเชื่อถือของไทยเป็น Tier 2 ก็ตาม แต่ทางรัฐบาลไทยก็ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยพยายามวางแผนตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาทั้ง 11 ข้อ ที่สำคัญ ๆ เช่น การปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งก็ได้ดำเนินการปรับปรุง พรก. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดี โดยจะต้องมีการเพิ่มความเข้มขันมากขึ้น ในเรื่องของการตรวจสอบบริษัทที่ได้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจแรงงาน การดำเนินคดีผู้กระทำผิด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือของภาคประชาสังคมในเรื่องดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ในเรื่องของการป้องกันและการช่วยเหลือ จะต้องมีการเพิ่มแรงงานจูงใจให้กับผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางของการร้องทุกข์ ณ ศูนย์แรกรับและศูนย์สิ้นสุดการจ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดต่าง ๆ ตามพื้นที่ และการขับเคลื่อนการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยมีการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการตรวจพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวหรือพวกที่ถือบัตรสีชมพู การออกมาตรการให้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้ว และผู้ติดตามสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ หรือสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพได้ โดย รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเป้าหมายการถอด Tier 2 ออกว่า ต้องดำเนินการให้สำเร็จให้ได้และต้องตอบโจทย์ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้แนะนำไว้ 11 ข้อ ดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กรมประมง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันไป ซึ่งทุกหน่วยงานต้องทำความเข้าใจกับแผนฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการออกมาและจะต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญมากเช่นกัน

สำหรับ การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ซึ่งทาง ICAO มีการดำเนินการตรวจสอบสำคัญ ๆ ใน 2 เรื่อง ได้แก่ ด้านมาตรฐานความปลอดภัย และด้านมาตรฐานรักษาความปลอดภัย ซึ่งประเทศไทยติดธงแดงอยู่ในเรื่องของมาตรฐานด้านความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2558 โดยที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายคือการปลดธงแดง ในตอนนี้เกือบจะถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว วันนี้ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนได้รายงานให้ทราบแล้ว เรื่องแรกเป็นเรื่องการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการออกใบอนุญาตเดินอากาศใหม่ทั้งหมดไปแล้ว 9 สายการบิน ที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสถานีหลัก และการตรวจสอบภาคอากาศอีก 4 สายการบิน และจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานอีก 7 สายการบิน โดยถือว่าที่ดำเนินการมาแล้วมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมเพื่อยื่นขอปลดธงแดงกับทาง ICAO นั้น ทางสำนักงานการบินพลเรือนได้ส่งจดหมายแจ้งกับทางสายการบินที่ไม่ผ่านการตรวจประเมินซึ่งมีทั้งหมด 16 สายการบิน เพื่อแจ้งให้เข้าดำเนินการขอรับการตรวจ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดขององค์การการบินระหว่างประเทศว่าถ้าไม่มีใบอนุญาตจะต้องงดการบิน ทำให้สำนักงานการบินพลเรือนได้แจ้งงดการอนุญาตให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ยังไม่ได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ให้งดการให้บริการการบินระหว่างประเทศจนกว่าจะได้ใบรับรอง ซึ่งการงดให้บริการดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 ส่วนเรื่องการยื่นเอกสารขอรับการตรวจจากทางสำนักงานการบินพลเรือนของประเทศไทยที่จะยื่นไปยัง ICAO ได้มีการดำเนินการแล้ว โดยคาดว่า ICAO จะส่งบุคลากรเข้ามาตรวจสอบเพื่อประเมินมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเป็นทางการได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2560 หรืออย่างช้าก็ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560

โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงย้ำถึง ในส่วนเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ทางเจ้าหน้าที่ ICAO ได้ดำเนินการส่งบุคลากรจากตัวแทนของประเทศต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งการตรวจสอบที่สำนักงานการบินพลเรือน สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ในการดำเนินการตรวจสอบดังกล่าวนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ไม่พบข้อบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัย ผู้ตรวจสอบมีความพึงพอใจต่อระบบรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยในภาพรวม และยังได้ขอให้นำผลการตรวจสอบดังกล่าวนำไปปรับปรุงในเรื่องของมาตรฐานในด้านความปลอดภัยต่อไป และที่สำคัญยังให้คำแนะนำกับประเทศไทยในการเตรียมการพัฒนาบุคลากรทางด้านการรักษาความปลอดภัยให้มีความพอเพียงเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย อีกทั้ง ยังรวมไปถึงจะมีการแจ้งผลการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัย ที่ได้ดำเนินการในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาให้รับทราบในอีก 60 วัน หลังจากวันที่ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 กรกรฎาคม 2560 นี้ ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่ทางสำนักงานการบินพลเรือน ได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการปลดธงแดง เพื่อคาดหวังให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ตลอดจนการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการเดินอากาศของไทยมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

ตอนท้ายของการแถลงข่าว โฆษกกระทรวงกลาโหมได้ย้ำถึงการจัดระเบียบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม ซึ่งทางรัฐบาลได้ยึดหลักการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบนโยบายว่าให้ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา เพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดระเบียบได้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกการจัดระเบียบกระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนลักษณะที่สองเป็นการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่สาธารณะเพื่อภูมิทัศน์ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ การจัดระเบียบกระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะเป็นในเรื่องของการออกใบอนุญาตให้กับเกษตรกรเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นจนครบทุกรายแล้ว มีเกษตรกรที่ได้รับการออกใยอนุญาตไปแล้วจำนวน 119 ราย ต่อจากนั้นจะมีในเรื่องของนั่งร้านในการลำเลียงอาหารปลา ซึ่งนั่งร้านเหล่านี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้อยู่ ทาง คสช. ก็ได้อนุญาตให้ดำเนินการสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่ว่ากำลังออกแบบเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน ขณะนี้การออกแบบได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้แบบของ อบต. เนื่องจากว่ามีราคาถูก แต่เราต้องให้น้ำจากฝั่งแม่น้ำโขงลดระดับลงก็จะสามารถใช้แบบ อบต. ได้พร้อมกันต่อไป

นอกจากนี้ การจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่สาธารณะนั้น เนื่องด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ได้ถูกรื้อถอนไป ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ยากไร้ในส่วนนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมเจ้าท่าสาขาจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการหาที่พักให้รวมไปถึงอาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีพต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันได้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งงานด้านเอกสารและงานด้านภูมิทัศน์ รวมไปถึงประชาชนได้มีความพึงพอใจในการจัดระเบียบในครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 32/2560 ในเรื่องการบรรเทาความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้แก่ประชาชน ในกรณีสิ่งปลูกสร้าง อาคาร หรือสิ่งอื่นใดรุกล้ำน่านน้ำอีกด้วย

*****************************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ