นายกรัฐมนตรีร่วมประชุม BRICS+ เสนอ 4 มุมมอง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 6, 2017 16:12 —สำนักโฆษก

ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงศูนย์การประชุมระหว่างประเทศเซี่ยเหมิน ได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุม

จากนั้นในเวลา 10.15 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาด เกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าว ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างกลุ่ม BRICS และ EMDC ในวันนี้ และขอบคุณจีนที่เชิญไทยเข้าร่วม ซึ่งเป็นการยืนยันบทบาทของจีนอีกครั้งในฐานะสะพานเชื่อมระหว่าง กลุ่มประเทศ นับเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งที่ไทยจะได้มาร่วมในฐานะเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่าง BRICS กับอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนา และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนและท้าทายรอบด้าน เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือและ หันหน้าเข้าหากัน

ทั้งนี้ ไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศมีนโยบายที่สอดคล้องกันในการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หุ้นส่วนภูมิภาคยูเรเชียของรัสเซีย นโยบายรุกตะวันออกของ อินเดีย วาระปี ค.ศ. 2063 ของสหภาพแอฟริกา ยุทธศาสตร์การนำวาระ ค.ศ.2030 สู่การปฏิบัติในประเทศ และท้องถิ่นของบราซิล และวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2030 ของอียิปต์ โดยหากพิจารณาศักยภาพทางเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS และอีก 5 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมรวม 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก สัดส่วน GDP รวมกว่าร้อยละ 30 ของโลก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกว่าร้อยละ 46 ของโลก

ไทยเชื่อมั่นว่า ทุกประเทศสามารถร่วมกันสร้าง “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยการดึง ศักยภาพ ความหลากหลาย และจุดแข็งที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาผนึกกำลังร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญ เงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากร เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสันติภาพ ของภูมิภาคและโลก

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอมุมมองจากประสบการณ์ของไทยใน 4 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในควบคู่กับการเติบโตไปพร้อมกันของเพื่อนบ้าน การพึ่งพาตนเอง เป็นหลักที่ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายในประเทศ และปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพร้อมร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อร่วมกันช่วยเหลือประเทศที่สาม ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนผ่าน กลไกประชารัฐ

นอกจากนี้ ไทยมีแนวทาง “ประเทศไทย + 1” เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนและความร่วมมือกับต่างประเทศ ขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของแต่ละประเทศ มาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่สอง การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้านในทุกมิติจะช่วยขยายโอกาส การคมนาคม ติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงการศึกษาและธุรกิจ ตลอดจนกระจายความเจริญและรายได้ ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน

ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นกับเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคและอาเซียน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมความเชื่อมโยงรอบด้าน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก- ตะวันตก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Act East ของอินเดีย ตลอดจนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การผลักดันแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบอาเซียนและอื่น ๆ เช่น ACMECS IORA ACD ซึ่งเกื้อกูลข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และจะนำมาซึ่งความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งในเอเชีย และไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ตัวอย่าง เช่น โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเชื่อมต่อ อาเซียนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และจะรับกันได้ดีกับวิสัยทัศน์เพื่อความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือ แหล่งเงินทุนที่ต่อเนื่อง จึงต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของธนาคารเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ของกลุ่ม BRICS และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย ในการเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับประเทศกาลังพัฒนา โดยต้องมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการให้กู้ยืม ที่เอื้อต่อการเข้าถึงเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง คือ ความเชื่อมโยงระดับประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ BRICS สร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาคน Smart Human Capital ผ่าน ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งอาชีวะศึกษา การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับเอกชน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและทักษะ แรงงานให้สอดคล้อง กับบริบทของตลาดและสังคมดิจิทัล ตลอดจน ด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับระดับการพัฒนา และมีราคาที่เข้าถึงได้

นอกจากนี้ BRICS ยังสามารถมีบทบาทนำในการเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ทั้งด้านการพัฒนากฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรอย่างสมดุล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยง ระหว่างประชาชนให้ใกล้ชิดขึ้น และขยายการค้าและ การลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะ SMEs ผ่านการพัฒนา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางการเงินอื่น ๆ

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรอบความร่วมมือที่สำคัญ 3 กรอบ ได้แก่ ACMECS (พ.ศ. 2561) ASEAN (พ.ศ. 2562) และ APEC (พ.ศ. 2565) ไทยพร้อมจะจับมือสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุก ประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ ในการวางแผนและการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกัน ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการรวมตัวระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคอย่างแท้จริง

ประเด็นที่สาม นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมและสนับสนุนที่ BRICS มุ่งมั่นในการร่วมกันสร้างการเติบโตทาง เศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการยืนยันเจตนารมณ์ต่อพันธกรณี ภายใต้ความตกลงปารีส และร่วมมือกันในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดต่อไป

ประเด็นที่สี่ ทุกประเทศต้องคำนึงถึงความต้องการและข้อจำกัดของผู้ที่มีส่วนร่วมเป็นสำคัญ และควรใช้ประโยชน์จากช่องทางความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งความร่วมมือเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กลุ่ม BRICS ยึดถือจะเป็นหลักประกันความไว้เนื้อ เชื่อใจและความร่วมมือให้ประสบผลสำเร็จ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าว หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากลุ่ม BRICS จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เป็น จริงโดยจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมความร่วมมือเริ่มจากประเด็นที่ทำร่วมกันได้จริง โดยเฉพาะการสร้าง ความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน ประชาชน และดิจิทัล ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุของประเทศ กำลังพัฒนา โดยมีการตั้งเป้าชัดเจนในแต่ละปี และมีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อทุกภูมิภาคและโลกต่อไป

จากนั้นในเวลา 15.30 น. นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยเหมิน เกาฉีเพื่อกลับประเทศไทย และจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 17.50 น.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ