รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Tuesday September 12, 2017 15:14 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (12 ก.ย. 60) เวลา 10.30 น. นาย Hiroshige Seko นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ณ โรงแรมแบงค็อกแมริออท ควีนปาร์ค ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณรมว. METI และประธานเจโทร ที่ได้นำคณะมาเยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังทวีบทบาทในเวทีโลก และก้าวสู่ Society 5.0 ที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อในอีกหลายสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการผลิต ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้ปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงมีหลายสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันได้

รมว. METI กล่าวว่าเมื่อวานได้นำคณะภาคเอกชนชั้นนำญี่ปุ่นเกือบ 600 รายเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน การเดินทางครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเรียนรู้ถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาโดยใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูง ตลอดจนการ Start up ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน

รมว. METI ได้เสนอแนวความคิดเรื่อง Connected Industries ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรม ดังนั้นประสบการณ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นมีความสนใจและมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็น HUB ในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศไทยให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนา EEC ให้เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในอนาคตอยากให้มีการพบปะที่สม่ำเสมอระหว่าง METI กับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย โดยเน้นในเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวเพื่อช่วยชี้ทิศทางการพัฒนาการค้าการลงทุนร่วมกัน ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นกับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง GMS, CLMV และอาเซียนด้วย

ประการที่สองคือประเทศญี่ปุ่นประสงค์จะใช้ไทยเป็นตัวกลางในการร่วมพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในภูมิภาคนี้ มีหลายสิ่งที่สามารถพัฒนาร่วมกันได้ ทั้งการพัฒนาบุคลากร เศรษฐกิจ การสร้างตลาดเงินตลาดทุนที่เข้มแข็ง โดยรองนายกรัฐมนตรีประสงค์ให้มีการพบปะพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาระหว่างภูมิภาคอย่างแท้จริง

ประการที่สามคือ Connectivity นอกเหนือจากเส้นทางรถไฟเหนือใต้แล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในเส้นทาง East West Corridor ซึ่งจะเชื่อมโยงจากเวียดนาม ลาว ผ่านไทยเข้าสู่พม่าซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงอินเดีย ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMV และไทย รวมถึง BIMSTEC มีความสำคัญและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หากมีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อกันได้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะสร้าง Connectivity อย่างแท้จริง

เรื่องสุดท้ายคือโครงการ Connected Industries รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อินเตอร์เน็ต หุ่นยนต์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตของญี่ปุ่นทั้งหมด ประชาชนจะต้องมีการปรับตัวจากวิธีการดั้งเดิมไปสู่ดิจิทัล จึงขอให้เจโทรเข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรไทยเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย

***************

ระหว่างการเยือน 11-13 กันยายน 2560 ได้มีการลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างกันจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่

(1) ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับ Industry 4.0 โดยอาศัยองค์ความรู้ของญี่ปุ่นผ่าน “Flex Campus” ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับ สอท.ญี่ปุ่น/ปทท.

(2) ความร่วมมือในการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ของไทยระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุน SMEs แห่งญี่ปุ่น (SMRJ)

(3) ความร่วมมือด้านการค้า ระหว่างการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับ JETRO

(4) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สนง. EEC กับ JICA

(5) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนา EEC ระหว่าง สนง. EEC กับ บริษัท Hitachi

(6) ความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม ระหว่างสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน)และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น กับ กกร. ของไทย

(7) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริษัท JC Service Co.,Ltd.

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ