นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 (Ninth Mekong-Japan Summit)

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2017 15:54 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 (Ninth Mekong-Japan Summit)

วันนี้ 13 พฤศจิกายน 2560 ในช่วงค่ำ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 (Ninth Mekong-Japan Summit) ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ตลอดจนต้อนรับคณะผู้แทนชาวไทยด้วยความเอื้อเฟื้อ พร้อมทั้งขอขอบคุณญี่ปุ่น ทั้งในฐานะมิตรแท้ที่ยาวนานของไทยและในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศลุ่มน้ำโขงด้วยความจริงใจมาโดยตลอด ทั้งนี้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น มีความคืบหน้าที่ดี โดยญี่ปุ่นได้ดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 ภายใต้งบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการจำนวน 7.5 แสนล้านเยน เสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 2 ใน 3 ของโครงการทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น มีดังนี้

ประการแรกคือ การส่งเสริมความเชื่อมโยง เนื่องจากความเชื่อมโยงไม่เพียงส่งเสริมการคมนาคม แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงผู้คนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา และบูรณาการลุ่มน้ำโขงเข้ากับอาเซียนและตลาดโลก เพื่อที่จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งเป็นช่องทางการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาที่มีความเท่าเทียมกันยิ่งขึ้นในอนาคตประเทศลุ่มน้ำโขงครอบครองยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนและของโลกโดยธรรมชาติ กอปรกับมีศักยภาพด้านบุคลากรและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 6-8 ต่อปี

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการทำให้แผนแม่บท ACMECS ซึ่งกำลังจะเป็นแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ฉบับแรกของอนุภูมิภาคมีผลเป็นรูปธรรม โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศแรกที่ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในขณะเดียวกัน ไทยก็สนับสนุนข้อริเริ่ม “Free and Open Indo-Pacific Strategy” ของญี่ปุ่น เนื่องจากจะช่วยสนับสนุนนโยบายด้านความเชื่อมโยงของไทย การสร้างเสรีภาพในการเดินเรือ การสร้างความมั่นคงในอนุภูมิภาค ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้า และความใกล้ชิดระหว่างประชาชน รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของไทยเรื่องการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่า และสอดคล้องกับแนวทางการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคทั้ง 4 คือ ACMECS อาเซียน BIMSTEC และ IORA

ประการที่สอง ปัจจุบัน ไทยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ผ่านนโยบายต่างๆ อาทิ ประเทศไทย 4.0 และโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมข้อริเริ่ม Soft Connectivity ของญี่ปุ่น ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำโขง (MIDV) ซึ่งประกอบด้วย (1) การเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาค (2) ความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ ทั้งระหว่างประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคต่างๆ (3) ความเชื่อมโยงด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันในฐานะประเทศหุ้นส่วนในการพัฒนาและประเทศผู้ให้ในลุ่มน้ำโขง ในการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เช่น โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยน สตึงบท โดยความช่วยเหลือของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) และในสาขาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม โดยการจัดโครงการพัฒนาบุคลากรและฝึกอบรมของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA)

ประการที่สาม ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยจะได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรีนแม่โขงฟอรั่ม เป็นครั้งที่ 5 ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อหารือเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยบทบาทของไทยดังกล่าวสอดรับกับ ASEAN-Japan Environmental Cooperation Initiative ซึ่งเป็นข้อเสนอของญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นในเรื่องการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Health and Wellbeing Initiative ของญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการรักษาพยาบาลแบบบูรณาการ เนื่องจากไทยมีประสบการณ์และมีศักยภาพในการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของภูมิภาค เพื่อการเป็นภูมิภาคที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการใช้ชีวิตของสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทย ที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และค่านิยมด้านวัฒนธรรมอันใกล้ชิดกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ