นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12

ข่าวทั่วไป Tuesday November 14, 2017 15:41 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12

วันนี้ (14 พ.ย. 60)เวลา 15.30 น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเห็นในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฟิลิปปินส์ (PICC) กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่เราได้ร่วมกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “อีเอเอส” ในการสนับสนุนให้ “อีเอเอส” เป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำที่สำคัญในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางและมีบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ดังนั้น เราต้องใช้ประโยชน์จาก “อีเอเอส” อย่างเต็มที่ ในการช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคง ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ และประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน โดยหยิบยกประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศสามารถร่วมมือกัน ดังนี้

ประการแรก ในการรักษาพลวัตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลกให้เป็นไปอย่างยั่งยืนนั้น “อีเอเอส” จะต้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินให้มากขึ้น ประเทศที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันผลักดันการเจรจาจัดทำ “อาร์เซ็ป” (RCEP) ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม จึงหวังว่าการประชุมสมัยพิเศษของกลุ่ม RCEP ในช่วงบ่ายวันนี้ จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนทางการเมืองที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถบรรลุความตกลงเกี่ยวกับ RCEP ในโอกาสแรก

ประการที่สอง ความเชื่อมโยงในภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาและการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราจึงควรศึกษาแนวคิดและวิธีการที่จะหาแหล่งเงินทุนและเชื่อมโยงข้อริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ อนุภูมิภาค และภูมิภาค อาทิ “บีอาร์ไอ” (BRI) ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพของญี่ปุ่น “จีเอมเอส” (GMS) ความร่วมมือแม่โขงกับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐฯ “บิมสเทค” (BIMSTEC) “แอคเมคส์” (ACMECS) กรอบสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (ไอโอรา – IORA) เป็นต้น ให้มีความสอดคล้องและเชื่อมต่อกันโดยไร้รอยต่อและเป็นระเบียงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ควรหาวิธีที่จะ “เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ” (connecting the connectivities) เพื่อสร้างโอกาสการค้าการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน และการเชื่อมโยงสองฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปฏิญญาการประชุม “อีเอเอส” ครั้งที่ ๖ ที่ได้กล่าวถึงเรื่อง “แผนแม่บทความเชื่อมโยงกับภายนอก”(Connectivity Master Plan Plus )

ประการที่สาม เราจะต้องร่วมมือกันบริหารจัดการปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคง ปัญหาการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในปัจจุบัน และไม่มีประเทศใดสามารถแก้ไขได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและความรับผิดชอบร่วมกันอย่างมีการบูรณาการและเป็นระบบ เช่น การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การส่งเสริมแนวคิดสายกลางและขันติธรรมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นการหยุดยั้งปัญหาที่ต้นเหตุ

สำหรับปัญหาคาบสมุทรเกาหลี นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาค ดังนั้น ไทยได้ร่วมกับอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศในการเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อมติต่าง ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีความยับยั้งชั่งใจและยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ และโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไทยยินดีกับข้อริเริ่มเบอร์ลินของสาธารณรัฐเกาหลี

ประเด็นทะเลจีนใต้ ไทยยินดีที่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ได้ตกลงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำ “ซีโอซี” (COC) ให้เสร็จโดยเร็ว ควบคู่กับการปฏิบัติตาม “ดีโอซี” (DOC) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในทุกข้อบทเพื่อนำไปสู่การทำให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว นายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโจรสลัดหรืออาชญากรรมข้ามชาติ พร้อมทั้งเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ (strategic trust) ในพื้นที่สองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียซึ่งเชื่อมโยงกัน จึงขอเสนอให้ร่วมกันพิจารณาแนวความคิดความร่วมมือในประเด็นยุทธศาสตร์ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในกรอบอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเกื้อกูล

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกรอบสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (ไอโอรา – IORA) เพื่อช่วยให้ภูมิภาคเราเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ