รอง นรม.วิษณุฯ ชี้แจงผลงานด้านกฎหมาย 280 ฉบับ รัฐบาลเร่งปรับปรุงแก้ไข และปฏิรูปกฎหมายของประเทศ ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตอบสนองต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday January 26, 2018 16:13 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรีแจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแก่สื่อมวลชนในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” หัวข้อ “กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” รัฐบาลเร่งปรับปรุงแก้ไขปฏิรูปกฎหมายของประเทศ280 ฉบับ ให้เป็นปัจจุบัน ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

วันนี้ (25 ม.ค.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแก่สื่อมวลชน ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” หัวข้อ “กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” และแถลงเรื่อง “แผนปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่ง นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วย โดยมีนางสาวนารากร ติยายน ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายงาน และมีสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมซักถาม

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิก ปรับปรุง และปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาล ในระหว่างที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลา 3 ปี 8 เดือน ว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกฎหมายพระราชบัญญัติซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วทั้งหมด 280 ฉบับ โดยการออกกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนองความต้องการของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้ง 20 กระทรวง 120 กรม และความต้องการของประชาชนรอคอยมานาน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ภาษีรัษฎากร ภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ฯลฯ ขณะเดียวกันเพื่อสนองความต้องการหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยไปมีกับต่างประเทศ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาเซียน การแก้ไขปัญหา ICAO การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย กฎหมาย พ.ร.บ. งาช้าง (มีผลบังคับใช้แล้ว) เป็นต้น

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องการดำเนินการปรับปรุงและออกกฎหมายทั้ง 280 ฉบับในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินว่า ก่อนที่ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามาบริหาราชการแผ่น ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต่าง ๆ ในขณะนั้นสามารถดำเนินการออกกฎหมายได้เพียง 120 ฉบับ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยและไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของหน่วยงานราชการต่าง ๆ และประชาชน รวมถึงไม่ตอบสนองต่อพันธกรณีระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลต่าง ๆ ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการออกกฎหมายออกมาได้ เนื่องจากกระบวนการและสถานการณ์ทางด้านการเมืองในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการ บัดนี้ เมื่อสถานการณ์อำนวยรัฐบาลปัจจุบันจึงได้เร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวออกมาจนเกิดผลเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม

รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสมมายาวนานและอำนวยความสะดวกทางด้านการประกอบธุรกิจว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งธนาคารโลกได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณต่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้สามารถยกระดับประเทศไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและการค้าโลก รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ BOI ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายสำคัญคือพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนหรือผู้มารับบริการในการมาติดต่อราชการกับหน่วยงานรัฐเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น และป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งกฎหมายนี้ให้ใช้บังคับกับเรื่องการอนุญาต การจดทะเบียนหรือการแจ้ง ที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง ก่อนจะดำเนินการ ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาต ผู้อนุญาตจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ เช่น กรณีที่ประชาชนมาติดต่อราชการในเรื่องต่าง ๆ หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน หรือเวลา และเอกสารที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ ประชาชนหรือผู้มารับบริการสามารถฟ้องร้องและร้องเรียนเจ้าหน้าที่ได้

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางกับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามคู่มือดังกล่าวว่า ควรเขียนระบุข้อปฏิบัติและระยะเวลาของการดำเนินในคู่มือให้ชัดเจน โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่อการดำเนินการดังกล่าวได้จริง และมีความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การติดต่อขอทำบัตรประจำตัวประชนชน คู่มือฯ ระบุกำหนดดำเนินการภายใน 7 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่หมายถึงเป็นการนับเมื่อประชาชนเข้ามาติดต่อเจ้าหน้าที่ที่โต๊ะแล้วดำเนินการตามขั้นตอน แต่ประชาชนนับตั้งแต่มาเข้าคิวรอ บางครั้งรอถึง 3 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ยังล้าช้าไม่เป็นไปตามที่คู่มือฯ กำหนด ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงแก้ไขคู่มือฯ ระบุให้ชัดเจนว่าใช้เวลารอและเข้าไปรับบริการที่โต๊ะเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเท่าใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนมีความเข้าใจที่สอดคล้องตรงกัน ป้องกันปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แล้วกลับมาฟ้องร้องหรือร้องเรียนเจ้าหน้าที่ภายหลังอีก

รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำถึงสาเหตุความจำเป็นเกี่ยวกับการเร่งปรับปรุงแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายและพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ของประเทศไทยว่า ขณะนี้มีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่เป็นภาระกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะไปบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งในกฎหมายจำนวนหลายหมื่นฉบับ มีทั้งกฎหมายที่มีสาระและไม่มีสาระ ตลอดจนเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และกฎหมายบางฉบับขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการยกเลิก ปรับปรุงแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายเก่าดังกล่าว เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินการยกเลิกและปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการดำเนินการในลักษณะแบบกิโยติน (เปรียบเทียบกับอุปกรณ์การประหารชีวิตของฝรั่งเศสที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อใช้ตัดคอนักโทษ) จนประสบผลสำเร็จ คือ การนำกฎหมายของประเทศที่มีอยู่มาดำเนินการยกเลิกในครั้งเดียว (ขึ้นเขียงตัดครั้งเดียวทั้ง 7,000 ฉบับ) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสมในการที่จะประยุกต์และปรับใช้กับประเทศไทย

จากการศึกษาดังกล่าวพบว่ามีทั้งที่สามารถดำเนินการได้จริงและไม่ได้จริง รองนายกรัฐมนตรี จึงพิจารณาว่าควรดำเนินการปรับปรุงและปฏิรูปเฉพาะกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อทางธุรกิจ การค้า การลงทุนและเศรษฐกิจก่อน แล้วจึงขยายไปในส่วนของกฎหมายประเภทอื่น ๆ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้รับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ การปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการตั้งแต่พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น และอาจจะมีการพิจารณาให้จัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยตรงอีกด้วย

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ