นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง “ความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเล” (Maritime Cooperation and Security) ส่งเสริมความร่วมมือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ข่าวทั่วไป Friday January 26, 2018 16:15 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง “ความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเล” (Maritime Cooperation and Security) ส่งเสริมความร่วมมือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

วันนี้ 25 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น. ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “ความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเล” (Maritime Cooperation and Security) อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย และเป็นแขกเกียรติยศร่วมกับผู้นำอาเซียน ในงานวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย ครั้งที่ 69 ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2561 โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการหารือเรื่องความร่วมมือและความมั่นคงทางทะเลในวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ทางทะเลมีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางสังคมและความมั่นคงของอาเซียน อินเดีย และโลก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายควรให้ความสำคัญใน ประเด็น คือ (1) การส่งเสริมเสถียรภาพในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างกันและ (3) การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

อาเซียนและอินเดียตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) ในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศบนสองฟากฝั่งมหาสมุทรเป็นเป้าประสงค์ร่วมกันของอาเซียนและอินเดีย และของประชาคมโลก ในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาค มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (Strategic New Equilibrium) ในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักการ 3 M คือ การไว้เนื้อเชื่อใจกัน (mutual trust) การเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) รวมทั้ง ยึดมั่นในความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ในการนี้ ผมเห็นว่าพวกเราควรมีจุดยืนร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน หาจุดร่วม ลดจุดต่าง เร่งร่วมมือ ลดเผชิญหน้า เพื่อให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่แห่งสันติภาพ มั่นคง มั่งคั่ง มีเสถียรภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ การส่งเสริมเสถียรภาพในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก จะต้องยึดหลักกฎกติกาสากล โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับข้อริเริ่มใหม่ ๆ เช่น แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ควรเกื้อกูลกับข้อริเริ่มของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อให้เกิดพลวัตในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดีย กอปรกับความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะให้เกิดการสอดประสานกันระหว่าง BRI กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ ในส่วนของการต่อต้านความท้าทายรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหาโจรสลัด อาชญากรรมไซเบอร์ การก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าอย่างแท้จริงโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สอง อาเซียนและอินเดียควรส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างกันซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียไปข้างหน้า ผมขอชื่นชมและสนับสนุนการที่อินเดียมีนโยบาย “มุ่งตะวันออก” (Act East Policy) ที่ขยายความร่วมมือทางทะเลออกไปทางตะวันออก โดยให้ความสำคัญกับระเบียงเศรษฐกิจทางทะเล เช่น ระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง-อินเดีย (Mekong-India Economic Corridor) ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงท่าเรือเจนไนกับท่าเรือสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ทวายในเมียนมา อาเซียนเองก็มีแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC 2025) และระเบียงเศรษฐกิจฝั่งใต้ (Southern Economic Corridor) ซึ่งจะทำให้สามารถขนส่งสินค้าจากอินเดียไปยังเวียดนามหรือออกทะเลผ่านแหลมฉบังในประเทศไทยเพื่อไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก และจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนของอาเซียนและอินเดียขยายตัวได้อย่างมหาศาล ดังนั้น กลไลอาเซียน-อินเดียด้านความร่วมมือทางทะเลควรพิจารณาศึกษาโอกาสขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือสำคัญทางภาคตะวันออกของอินเดียและภาคตะวันตกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเชื่อมโยงการล่องเรือสำราญทางทะเล (sea cruises) ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การขนส่งทางบกผ่านโครงการถนนสามฝ่าย (Trilateral Highway) อินเดีย เมียนมา และไทย จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป โดยหวังว่าจะสำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดีได้เสนอการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านโครงการถนนสามฝ่ายนี้ และมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงไปสู่เวียดนาม สปป. ลาว และกัมพูชาด้วย ในอนาคตอาจมองถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามฝ่ายจากอินเดีย เมียนมา ไทยผ่านไปยังเวียดนาม

สาม เศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) จะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเห็นว่าควรเร่งดำเนินการในลักษณะกิจกรรมใดพร้อมให้ดำเนินการทันที (early harvest) เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาเซียน-อินเดียอาจร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่มีฐานในภูมิภาคอยู่แล้ว เช่น ยูเนสโก (UNESCO) / ไอโอซี (IOC) / เวสท์แพค (WESTPAC) โดยเน้นการวิจัยและฝึกอบรมบุคลากร ในการนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (Phuket Marine Biological Center) จังหวัดภูเก็ตของไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือในเรื่องนี้ และสามารถพัฒนาศูนย์นี้และศูนย์อื่น ๆ ในภูมิภาคให้เป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการฝึกอบรมด้านการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวโดยสุปว่า ความร่วมมือทางทะเลเป็นเสาหลักสำคัญประการหนึ่งของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียและการสร้างความไว้ใจระหว่างกันทางยุทธศาสตร์ (strategic trust) ซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนความร่วมมือในพื้นที่ทางทะเลให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นรูปธรรม และนำไปสู่การเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางทะเลอย่างแท้จริงระหว่างทั้งสองฟากมหาสมุทร เพื่อประโยชน์ของประชาชนของประเทศต่าง ๆ ในอินโด-แปซิฟิก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ