นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”

ข่าวทั่วไป Friday February 9, 2018 15:47 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทั่วประเทศ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมพัฒนาประเทศไปสู่ 4.0 ต่อไป

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 09.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,800 คนประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนหน่วยงานราชการในส่วนภูมิภาค และบุคลากรที่เป็นวิทยากรระดับจังหวัด พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังนโยบายโดยพร้อมเพรียงกัน

โอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนการปฏิรูป เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของทุกส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า เพื่อผลิตกำลังคน การสร้างพลังทางสังคมและลดการเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” และการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนบนพื้นฐานการเติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและทุกกระทรวงมีนโยบายสำคัญลงไปในพื้นที่ โดยได้มีแผนงานโครงการและงบประมาณลงไปขับเคลื่อน ซึ่งมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการร่วมกัน ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน และกลายเป็นภาระให้กับประชาชน เช่น กรณีการก่อสร้างถนน แต่ชาวบ้านไม่อยากให้สร้างหรือไม่รู้เรื่องมาก่อน หรือ กรณีการวางแผนการทำงานที่ไม่พร้อมกันระหว่างกรมชลประทานกับกรมทางหลวง และอื่น ๆ จากที่มาและปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการบริหารงานในรูปแบบ “ไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อบูรณาการงานของรัฐบาลและทุกกระทรวง ซึ่งคำว่า “ไทยนิยม” นั้น ไม่ใช่การสร้างกระแส “ชาตินิยม” แต่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นไทยโดยไม่ทิ้งหลักสากล” และ “ไทยนิยม” ก็ไม่ใช่ “ประชานิยม” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีกลไกสำคัญ 4 ระดับ ทำหน้าที่บูรณาการการขับเคลื่อนและติดตามงานสำคัญลงในพื้นที่เป้าหมาย 83,151 หมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบด้วย 1) ระดับชาติ 2) ระดับจังหวัด 3) ระดับอำเภอ และ4) ระดับตำบล ซึ่งทั้งหมดคือทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ถือเป็นแกนหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำหน้าที่ทั้งการสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการสร้างความร่วมมือกับกลไกของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งมิติด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนงานสำคัญ 10 เรื่อง ดังนี้ 1) สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง ด้วยการสร้างความสามัคคี ปรองดอง จัดให้มีการทำสัญญาประชาคมให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อรับรู้และปฏิบัติตามร่วมกัน 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข ด้วยการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพ และรายได้ให้แก่ ประชาชน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว โดยชุมชน 4) วิถีไทยวิถีพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างวินัยการออมในทุกช่วงอายุ 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่อง สิทธิ หน้าที่ และกฎหมาย เพื่อการเป็นพลเมืองที่ดี 6) รู้กลไกการบริหารราชการ ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งเรื่องกลไกการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละระดับ และการบริหารงบประมาณ ที่มุ่งประโยชน์แก่ประชาชน 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม ด้วยการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับ ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และหลักธรรมาภิบาล 8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเทคโนโลยี ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่น เน็ตประชารัฐ เป็นต้น 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร และ 10) งานตามภารกิจของส่วนราชการ/หน่วยงาน (Function) ซึ่งทั้ง 10 เรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยายผลเพื่อต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ให้ครอบคลุมทุกมิติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำอีกว่า มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะวางรากฐานการพัฒนา อย่างยั่งยืนให้กับประเทศ โดยวางระบบและแนวทางการปฏิรูปให้นโยบายต่างๆ เพื่อการพัฒนาสู่ฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อประเทศไทย ในปัจจุบันเท่านั้น แต่จะส่งผลที่ดีในอนาคตด้วย จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของคนไทย และทุกฝ่ายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำในตอนท้ายอีกว่า รัฐบาลมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยขอให้ไปสร้างการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยความตั้งใจส่งผลให้เกิดความรักสามัคคีปรองดองกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้น้อยลง ขณะเดียวกัน การทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้มีการบูรณาการร่วมกับประชาชนด้วยการยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแก่ประชาชน พร้อมร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรควบคู่ไปด้วยซึ่งจะส่งผลให้ ผลิตผลทางการเกษตรดีขึ้น

พร้อมทั้ง ขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐวางตัวให้เหมาะสมไม่ประพฤติตนเป็นนายของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกสบายใจและเกิดความประทับใจที่จะเข้าปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งตรงตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อย่างแท้จริง

..............................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ