สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวทั่วไป Friday February 9, 2018 14:32 —สำนักโฆษก

สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561เวลา 20.15 น.ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนพี่น้องประประชาชนในกรุงเทพมหานคร จังหวัดใกล้เคียง และคนไทยทุกคน มาร่วมชมงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 11 มีนาคม 2561 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์จัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีความสุข สืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ รวมทั้งชมการจัดสวนดอกไม้และงานศิลปะอันงดงามของไทย โดยพร้อมใจกันแต่งกายให้เข้าบรรยากาศย้อนยุคของไทย หรือชุดสุภาพตามความสมัครใจ นายกรัฐมนตรีอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชน พาลูกหลาน ชวนเพื่อนชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว มาร่วมงานกันเยอะๆ จะได้ร่วมกันภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย ที่มีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์มายาวนาน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นอกสถานที่ และได้มีโอกาสพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดตราดและจันทบุรี ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ข้าราชการ และทุกภาคส่วนที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ให้ความเป็นกันเอง และร่วมมือในการเสนอข้อคิดเห็นที่สะท้อนความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้นโยบายของภาครัฐสามารถทำได้อย่างตรงจุด

ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตอยู่ในระดับสูง มีศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเป็นพื้นที่ศูนย์รวมอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตและเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผลไม้และมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ (พัทยา บางแสน เกาะเสม็ด เกาะช้าง) อีกทั้งเป็นศูนย์การค้าชายแดน และมีโครงสร้างทางการคมนาคมที่เป็นประตูเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกที่สะดวก แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของพื้นที่ในภาคตะวันออก ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาด้วย ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอกับความต้องการและการขาดแคลนแรงงาน

นายกรัฐมนตรีและตัวแทนคณะรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคตะวันออก โดยได้รับทราบปัญหา และความต้องการของพื้นที่ โดยหลัก ๆ มี 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของถนน ศึกษาออกแบบก่อสร้างเส้นทางที่จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงเส้นทางในจังหวัดชลบุรีเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรและเส้นทางตัดใหม่ในจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงข่ายถนน โดยการเพิ่มช่องทางจราจร เพื่อสนับสนุนการขนส่งที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC พื้นที่ท่องเที่ยวและชายแดนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น ในส่วนของระบบขนส่งสาธารณะ จะมีการศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่สายระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยองพร้อมทั้ง การเปิดเดินรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ (Sprinter) สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน

2. ด้านอุตสาหกรรม การลงทุน การค้าและการค้าชายแดน การยกระดับด่านชายแดนให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรและเร่งรัดเตรียมการเพื่อเจรจา โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องการพัฒนา ความมั่นคงและผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนในอนาคตและการสนับสนุนจังหวัดจันทบุรีให้เป็นนครอัญมณีศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

3. ด้านการเกษตรสนับสนุนภาคตะวันออกให้เป็นมหานครผลไม้โลกที่มีคุณภาพปลอดภัยอย่างครบวงจรและจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและตลาดจำหน่ายผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

4. ด้านการท่องเที่ยว สนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งในด้านเชิงสุขภาพ ผ่านการใช้แบรนด์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เพื่อจัดสร้างศูนย์บริการสปา ในจังหวัดภาคตะวันออก และศึกษา ออกแบบ ปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและโรงแรมภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน

5. ด้านคุณภาพชีวิต สนับสนุนด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการบริการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร รวมทั้งการจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรด้านการแพทย์สาธารณสุขเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินและศูนย์การแพทย์ครบวงจร

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในจังหวัดระยอง การศึกษาการขุดลอกแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำตื้นเขิน และศักยภาพการขนส่งพืชผลทางการเกษตรทางน้ำ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ และบำบัดน้ำเสียในเมืองพัทยาอย่างครบวงจร

สำหรับในพื้นที่ EEC มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ ในหลาย ๆ โครงการ เช่น ด้านการซ่อมอากาศยาน การเป็นเมืองการบิน โครงการรถไฟความเร็วสูง และแผนการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้มีการหาแหล่งน้ำใหม่ เพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม และระบบเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำ เพื่อรองรับกิจกรรมใน EEC ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการในระยะยาวด้วย

การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการขึ้นโรงขึ้นศาลต่อสู้คดีบางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบซึ่งหลายครอบครัวต้องล้มละลายเพียงแค่ต้องการความเป็นธรรม ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายสำคัญในรัฐบาลนี้ ที่เห็นความสำคัญของการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรมให้เป็นนิติบุคคล” สำหรับช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับโอกาส สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ตลอดกระบวนการพร้อมด้วยการยกระดับกลไกในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนยุติธรรมดังกล่าว ทั้งนี้สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาให้ได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปปกป้องความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรม และในอนาคตประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะต้องเข้าถึงการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

การมีสถาบันการเงินเพื่อประชาชน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชน สามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของตนเองได้ในทุกๆ ตำบลทั่วประเทศ โดยพรบ.ฉบับนี้ จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ในชุมชนของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีพี่เลี้ยง คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คอยสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ประเทศไทยมีโครงข่ายสถาบันการเงินประชาชนที่เป็นของพี่น้องประชาชน ดำเนินการโดยพี่น้องประชาชนและเพื่อพี่น้องประชาชนโดยตรงจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่ความพอเพียงเพื่อการพึ่งพาตนเอง ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้สืบสานและต่อยอดอย่างยั่งยืน

………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ