รัฐบาล โดย ปธ.กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ชี้แจงความคืบหน้าปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ กำหนดเป้าหมายประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง”

ข่าวทั่วไป Friday February 16, 2018 16:01 —สำนักโฆษก

รัฐบาลแถลงความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศหัวข้อ "ทรัพยากรมีคุณค่า กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" โดยกำหนดเป้าหมายภายใต้กรอบแนวคิดประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง”

วันนี้ (16 ก.พ.61) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ "ทรัพยากรมีคุณค่า กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" โดยมีสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ เข้าร่วมซักถาม

ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยชี้แจงเกี่ยวกับกรอบความคิดในการดำเนินการว่า คณะกรรมการฯ กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปไว้ว่า มองไปข้างหน้าอยากที่จะเห็นประเทศไทยมี “การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง” ซึ่งที่ผ่านมาแม้การพัฒนาจะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าในหลายด้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าท้าย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1) ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่เหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจลดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติปัญหา กลไกและบทบาทภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหากฎหมายและกฎระเบียบที่มีจำนวนมาก ล้าสมัย และมีช่อนโหว่จากการใช้ดุลยพินิจ จนเป็นเหตุหนึ่งให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง และ 2) บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จากความก้าวหน้าทานเทคโนโลยีที่พลิกโฉมกิจกรรมทานเศรษฐกิจ กติกาและมาตรฐานสากลที่ เข้มงวดขึ้น และสันคมผู้สูงอายุ

สาระสำคัญของแผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ คือ คนไทย ภาคธุรกิจไทย และภาครัฐไทยต้องเก่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้กำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดย ระยะสั้น คือ การเพิ่มผลิตภาพ ใน อุตสาหกรรมหลักที่ไทยมีความชำนาญ และสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต จึงจำเป็นต้อง มีการพัฒนาทักษะบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จาก ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) และกฎหมายการแข่นขันทางการค้า รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบด้านต่านๆ ระยะกลาง การรวมกลุ่มในภูมิภาค เพื่อขยายตลาดและสร้างฐานการลนทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) บังคลาเทศ และตอนเหนือขอนอินเดีย และ ระยะยาวที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้คือ การสร้างระบบนิเวศด้านการวิจัย และนวัตกรรม ที่เน้นตอบโจทย์ประเทศและความต้องการใช้งานได้จริง จึงต้องมีการ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา การจัดตั้งศูนย์กลางการพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพและวิสาหกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่จะเอื้อให้เกิดการคิดค้น สร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่

ด้านที่ 2 ความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดความเหลื่มล้ำและกระจาย ประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอสำคัญ คือ การจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายให้เกิดผลจริง โดยแนวทางมีหลายระดับ ทั้งระดับบุคคล มุ่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและแรงงานไร้ฝีมือที่ยากจนในระดับฐานราก ระดับชุมชน มุ่งสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการยกระดับสถาบันการเงินชุมชนและพัฒนาธุรกิจชุมชน รวมถึงการพัฒนาผู้นำชุมชน และระดับประเทศ มุ่งพัฒนาเมืองในภูมิภาค และจัดสรรงบประมาณให้กับจันงหวัดที่ยากจนอย่างเหมาะสม การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ การปรับปรุง ระบบบำนาญ ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และขยายความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบและเกษตรกรเพิ่มขึ้น

ด้านที่ 3 การปรับกลไกและบทบาทภาครัฐให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยภาครัฐ (1) ต้องคำนึงถึง “ประสิทธิภาพ” และ “ความยั่งยืน” มากขึ้น (2) ต้อนโปร่งใส มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ (3) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน และ (4) ปรับบทบาทให้มี ความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นในทุกมิติ

ที่สำคัญ คือ การยกระดับกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและบูรณาการ (Plan-Do-Check-Act) ใน 3 มิติ ดังนี้

มิติแรก การปฏิรูปหน่วยงานนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ของประเทศที่ซับซ้อนขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ เร่งพัฒนาระบบข้อมูลที่สมบูรณ์ให้มีปริมาณที่เพียงพอ หลากหลาย เรียกใช้ได้รวดเร็ว มิติที่สอง การปฏิรูปหน่วยงานการคลังและงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว ต้องปฏิรูปหน่วยงบประมาณ ให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และปฏิรูปนโยบายการคลังและภาษีเพื่อรองรับภาระทางการคลังในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นจากการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประเทศ และเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาลเสนอให้มีองค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การปรับปรุงระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า และขยายฐานการจัดเก็บภาษีไปสู่ทรัพย์สินรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งปฏิรูปหน่วยบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจให้บริหารสินทรัพย์ให้เพิ่มมูลค่าตามศักยภาพ มิติที่สาม การปฏิรูปหน่วยงานดำเนินการและประเมินผล ที่สำคัญ คือ หน่วยงานขับเคลื่อนนโยบาย (Execution Unit) ให้มุ่งผลสัมฤทธิ์รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หน่วยงาน ติดตามและประเมินผล เพื่อเพิ่มศักยภาพและความอิสระในการติดตามประเมินผล และมีข้อมูลให้ติดตาม ประเมินผลให้ถูกต้อง เชื่อถือได้ รวมทั้งมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นำผลข้างต้นย้อนกลับเพื่อปรับปรุงแผนในระยะต่อไป รวมถึงการปฏิรูปสถาบันเพิ่มผลผลิตให้ส่งเสริมผลิตภาพและการมาตรฐานขอนประเทศได้อย่างเป็นระบบ และสถาบันด้านการส่งเสริม SMEs เพื่อช่วยยกระดับความสามารถของ SMEs อย่างบูรณาการและได้ผลจริง

ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวถึงความคาดหวังและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศว่า เงื่อนไขแห่งความสำเร็จดังกล่าวปัจจัย 4 ข้อ คือ 1) บริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะทิศทางและกลไกของธุรกิจภาคเอกชน บริบทของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่แน่นอน ซึ่งมีลักษณะของความเป็นพลวัต ดังนั้น ต้องมีความเข้าใจถึงความเป็นพลวัตดังกล่าวที่เกิดขึ้นแม้จะมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์อย่างไร ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลง 2) ต้องเข้าใจเรื่องการทำงานร่วมกันและความสัมพันธ์กับมิติด้านอื่น ๆ 3) การนำแผนหรือความคิดไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีการตั้งหน่วยที่รับผิดชอบเฉพาะในแต่ละกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และ 4) หน้าที่รับผิดชอบของการปฏิรูป ไม่ควรจะอยู่เฉพาะกับภาครัฐ หรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุดคือในฐานะที่เป็นพลเมือง เพราะสิ่งที่จะดำเนินการในการปฏิรูปประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ที่สำคัญคือทำอย่างไรที่จะนำแนวคิดที่อยู่ในแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างแท้จริง

-------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ