สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวทั่วไป Friday February 16, 2018 16:17 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น.
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จาก 3 ประเทศในยุโรป ได้แก่ อิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบปะสร้างความเข้าใจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิสัยทัศน์และนโยบาย โดยได้มีการส่งสัญญาณทางการเมืองที่ต้องการรื้อฟื้น และกระชับความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการกล่าวชื่นชมการดำเนินการตามแผนของรัฐบาลให้สหภาพยุโรปรับทราบอีกทางหนึ่ง และยังแสดงความพร้อมที่จะช่วยให้ข้อมูลเชิงบวกของไทยในเวทีสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ในการเดินทางมาเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศยุโรปถึง 3 ประเทศดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมายาวนานแล้ว ยังมีนัยสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป EU หลังจากที่ EU รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกเรื่องที่น่ายินดีที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านงบประมาณ ได้รายงานผลการสำรวจการเปิดเผยงบประมาณ หรือดัชนีการเปิดเผยงบประมาณ (Open Budget Index : OBI) ของรอบปี 2017 โดยประเทศไทยได้รับการประเมินสูงขึ้นมีคะแนนเพิ่ม 14 คะแนน ทำให้อันดับดีขึ้น 28 อันดับ จากปี 2015 ซึ่งจากการสำรวจการเปิดเผยงบประมาณนี้ ได้ให้ความสำคัญกับ 3 มิติหลัก ประกอบด้วย

1) ความโปร่งใสทางงบประมาณ (Budget transparency) ที่สะท้อนการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณให้สาธารณชนรับทราบ ในกรอบระยะเวลาอันสมควรและให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย สำหรับไทย ในรอบปีที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้พัฒนาและจัดทำเอกสารที่แสดงข้อมูลทั้งด้านการคลัง การงบประมาณ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของสาธารณชนทำได้โดยง่าย โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามายกระดับการให้บริการของภาครัฐ

2) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการงบประมาณ (Public participation in the budget process) สำหรับไทย ตั้งแต่ปี 2017 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งสำนักงบประมาณ ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตอบสนองต่อความต้องการประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

3) การมีสถาบันติดตามตรวจสอบที่เข้มแข็ง (Strong formal oversight institutions) จากทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ฉบับใหม่ของไทย ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของทุกหน่วยงาน โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คอยติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ด้วย

รวมทั้ง การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก (World Competitiveness Ranking) ของสถาบัน IMD ที่หวังว่าจะช่วยให้การประเมินในรอบถัดไปเพิ่มสูงขึ้นก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เราจะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้ ยังคงอยู่คู่สังคมไทย ในระยะยาว หรือทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักคิดไทยนิยม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทย สังคมไทย เป็นไปตามครรลองของไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนในเรื่องการลงทุนด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลจากต่างประเทศ ย่อมต้องอาศัยความเชื่อมมั่นและไว้วางใจในระดับที่สูงของทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพ ต้องพัฒนาตนเอง ต้องปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี ช่วยกันยกระดับ เพิ่มศักยภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ในภาพรวม

ความสำคัญของ EEC รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน EEC ในทุกมิติในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็น “คลื่นการปฏิรูปเศรษฐกิจ...ระลอกแรก” ของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและผลไม้ไทย รวมทั้งการแพทย์และการท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพ โดยอาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ และสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล Internet of things หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ AI ที่เป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ และช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน โดยคนไทยทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทย 4.0 แต่จำเป็นต้องสนับสนุนคนรุ่นเก่ายุค Analog ที่ถือว่าเป็นคลื่นลูกเก่า ให้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ ยุคดิจิทัลที่เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มากด้วยศักยภาพ ให้ได้รับโอกาส ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นต้น

ภายหลังจากการลงพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดตราด ระยอง ที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดทำยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและการค้าผลไม้ของไทย โดยมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมของประเทศ ตัวอย่างที่ 1 เป็นการอบแห้งผลไม้ไทย โดยยังสามารถรักษาคุณภาพทางโภชนาการ เป็นของขบเคี้ยว ที่มีประโยชน์กว่าขนมกรุบกรอบ ส่งขายหลายประเทศ ทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น จีน อเมริกา และ ตัวอย่างที่ 2 เป็นการทำสบู่จากผลไม้ไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า กว่า 20 ประเทศ ทั่วโลก

ช่วงเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเห็นว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาช้านานและเป็นไทยนิยมที่รักความสงบ วิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งคนไทยโชคดีที่รวยทรัพยากรธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศที่ต้องช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้บริสุทธิ์ สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนให้สะอาด และยิ้มต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ต่างชาติให้เกิดความประทับใจ

พร้อมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยโดยมีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นมือถือที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เปิดตัวภายใต้ชื่อ “Thailand Tourism Directory” โดยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย สำหรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะเป็นเว็ปไซต์และแอปพลิเคชั่นที่จะเป็นแหล่งรวมข้อมูลดิจิทัล ด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง และมีการอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะถือเป็น “Big Data ด้านการท่องเที่ยว” ที่ภาครัฐเป็นแกนกลางในการจัดทำขึ้น และขณะนี้สามารถรองรับได้ 3 ภาษาคือ ไทย จีน และอังกฤษ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว เส้นทางการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ตลอดถึงรายละเอียดของโรงแรมที่พักที่มีมาตรฐาน และได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยผ่านกลไก การตรวจสอบความถูกต้องจากศูนย์ปฏิบัติการ Digital Tourism ทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัดก่อนนำออกเผยแพร่ และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนให้คนไทยทุกคนได้หาโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเว็ปไซต์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่และเพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนอีกด้วย

…………………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ