นายกรัฐมนตรีประชุม คทช. ครั้งที่ 2/61 เห็นชอบพื้นที่เป้าหมาย และกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท

ข่าวทั่วไป Monday June 18, 2018 16:23 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เห็นชอบพื้นที่เป้าหมาย และกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท

วันนี้ (18 มิ.ย.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ประธานฯ ได้เร่งรัดการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข้งให้ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวง จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยปัจจุบันพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน มีจำนวนทั้งสิ้น 635 พื้นที่ 70 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 1,066,307 – 3 – 91.66 ไร่

โดยในที่ประชุมมีเรื่องเสนอที่ประชุมเพื่อทราบ จำนวน 3 เรื่อง และเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 2 เรื่อง มติที่ประชุมสรุปดังนี้
เรื่องที่ประชุมรับทราบ จำนวน 3 เรื่อง

1. ผลการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561

1.1 ผลการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สรุปดังนี้

1.1.1. งบประมาณบูรณาการแผนงานการจัดการปัญหาที่ดินทำกิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14 หน่วยงาน งบประมาณรวม 255,922,700 บาท รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) เบิกจ่ายแล้ว 89,597,345.41 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.01

1.1.2 โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการจัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 การชี้แจง ทำความเข้าใจ และให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.1.3 คู่มือการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดใช้เป็นแนวปฏิบัติในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

1.2 ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สรุปดังนี้

1.2.1 การกำหนดพื้นที่เป้าหมายและการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ การดำเนินงาน 1. พื้นที่เป้าหมายดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พื้นที่เป้าหมาย 635 พื้นที่ 70 จังหวัด 1,066,307-3-91.66 ไร่ 2. เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก คทช.จังหวัด พื้นที่เป้าหมาย 313 พื้นที่ 66 จังหวัด 808,069-1-91.31 ไร่ 3. หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ได้อนุญาตให้เข้าประโยชน์แล้ว พื้นที่เป้าหมาย 100 พื้นที่ 50 จังหวัด 376,880-0-75.64 ไร่ 4. มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว พื้นที่เป้าหมาย 81 พื้นที่ 45 จังหวัด 295,615-0-75.84 ไร่

1.2.2 การจัดที่ดิน (จัดคนเข้าทำประโยชน์) ให้ประชาชนไปแล้ว จำนวน 166 พื้นที่ 61 จังหวัด จำนวน 46,674 ราย จำนวน 58,362 แปลง เนื้อที่ประมาณ 329,772 ไร่

1.2.3 พื้นที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแล้ว จำนวน 112 พื้นที่ 55 จังหวัด เนื้อที่ 377,652-2-74 ไร่ ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 6 ด้าน

(1) ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล (Zoning)

(2) ด้านพัฒนาแหล่งน้ำและการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน

(3) ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

(4) ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม

(5) ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน

(6) ด้านส่งเสริมและการจัดทำบัญชีครัวเรือน

1.2.4 ความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 6 โครงการ

(1) โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง เป้าหมาย 20,292 แล้วเสร็จ 334 หน่วย

(2) โครงการเคหะชุมชนและบริการ เป้าหมาย 34,394 แล้วเสร็จ 15,193 หน่วย

(3) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เป้าหมาย 1,376 หน่วย

(4) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (เช่า) เป้าหมาย 5,128 หน่วย

(5) โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) เป้าหมาย 3,000 ครัวเรือน

(6) โครงการบ้านข้าราชการ (บ้านหลวง) เป้าหมาย 2,500 หน่วย

1.2.5 รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยมีข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

(1) ความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน การจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ และการชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติในพื้นที่เข้าใจถึงนโยบาย

(2) การปรับปรุงกฎระเบียบการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม การอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน นอกเหนือจากการดำเนินงานโดยภาครัฐเพียงส่วนเดียว เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ

(3) เร่งดำเนินการจัดทำสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่เป้าหมาย เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน บ่อน้ำ เป็นต้น

(4) การให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางด้านเกษตร และความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการทำมาหากินให้กับผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน รวมถึงการหาตลาดเพื่อรองรับสินค้าการเกษตร

(5) การสำรวจความต้องการผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน และการติดตามผลการจัดที่ดินเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน

2. ความคืบหน้าการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .....

2.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จแล้ว โดยแก้ไขบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ คทช.ให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในภาพรวม เพื่อบูรณาการนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่ดำเนินการตามกฎหมายต่าง ๆ และกำกับดูและให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านที่ดินและทรัพยากรดิน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่ คทช. กำหนด

2.2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับสามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้

3. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

3.1 ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามข้อเรียกร้องของ ขปส. จำนวน 58 ชุมชน สามารถดำเนินการได้ จำนวน 32 ชุมชน โดยอนุญาตตามกฎหมายแล้ว 8 ชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงาน จำนวน 24 ชุมชน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ จำนวน 26 ชุมชน เนื่องจากอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย การปรับปรุงหลักเกณฑ์และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ชุมชนไม่ประสงค์จะเข้าร่วม การอยู่อาศัยในลักษณะบุกรุก และหน่วยงานขอยกเลิกพื้นที่เป้าหมาย

3.2 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือแจ้งหน่วยงาน 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ที่ยื่นคำขอ จำนวน 486 ชุมชน เสนอคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน และคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ภายใต้ คทช. เพื่อพิจารณากำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนต่อไป

3.3 การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาของราษฎรกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยรับทราบข้อตกลงและแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ภายใต้ กขป.5 ตามข้อเสนอของ ขปส. โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ) เป็นประธานคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา

เรื่องที่ประชุมพิจารณาและมีมติเห็นชอบ จำนวน 2 เรื่อง

1. พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่มีราษฎรถือครองในเขตพื้นที่ป่าไม้ ในส่วนที่ไม่ได้นำมาดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้

ประเภทพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ

กลุ่ม 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ก่อน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 “ร่าง” กรอบมาตรการ อนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)

กลุ่ม 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 หลัง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 “ร่าง” กรอบมาตรการ อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชน และหน่วยงานรัฐ โดยชุมชนต้องดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ตามที่กำหนดร่วมกัน

กลุ่ม 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1, 2 ก่อน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 “ร่าง” กรอบมาตรการ 1. จัดระเบียบการใช้ที่ดินทำกิน และรับรองการอยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวม 2. กำกับควบคุมจัดการการใช้ที่ดินและป่าไม้ ภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ห้ามบุกรุก ขยายพื้นที่ 3. ฟื้นฟูสภาพป่าในรูปแบบการมีส่วนร่วม ส่งเสริมราษฎรปลูกป่า 3 อย่าง 4. ใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการชะล้างพังทลาย - ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1, 2 หลัง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 “ร่าง” กรอบมาตรการ วางแผนร่วมกับราษฎรและกรรมการหมู่บ้าน ประชาคม/ออกแบบ/คัดเลือกพันธุ์ไม้ตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า โดยกรมป่าไม้จัดหาพันธุ์ไม้และให้ราษฎรเป็นผู้ดูแลต้นไม้ที่ปลูก และราษฎรใช้ประโยชน์ที่ดินในระหว่างแถวของต้นไม้ได้ โดยราษฎรจะได้รับประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไม้ที่ปลูกและพืชพื้นล่างด้วย

ประเภทพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ กลุ่ม 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ก่อน และ หลัง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 “ร่าง” กรอบมาตรการ 1. หลักการจัดการพื้นที่ เพื่อคงเจตนารมณ์ของการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณา ต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินมิให้เอกสารสิทธิ 2. แนวทางการจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลง แนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในรูปแบบของการประชาคมของชุมชน ทั้งนี้ เป็นการการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการพิจารณาอนุญาต เมื่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่างพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. .... ได้รับการพิจารณาเห็นชอบและมีผลใช้บังคับแล้ว

ประเภทพื้นที่ ป่าชายเลน กลุ่ม 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน 1) พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตรกรรม 2) พื้นที่เมืองและสิ่งก่อสร้างถาวร “ร่าง” กรอบมาตรการ 1. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1.1 ดำเนินการจัดทำเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลน พร้อมทั้งกันพื้นที่ดินส่วนที่อยู่ห่างจากทะเล ไม่น้อยกว่า 100 เมตร และพื้นที่ที่อยู่ห่างจากริมคลองไม่น้อยกว่า 20 เมตร เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 1.2 ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน และกำหนดอัตราและเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน ในกรณีต่างๆ 1.3 เสนอและรับฟังข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและป่าชายหาด 2. คณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่ 2.1 จัดประชุมชี้แจงราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย 2.2 สำรวจ ตรวจสอบและจัดทำแผนผังที่ดินรายแปลง 2.3 จัดทำขอบเขต แผนผัง บริเวณที่ยังคงสภาพป่า 3. คณะกรรมการบริหารพื้นที่ป่าชายเลน 3.1 จัดทำแผนบริหารจัดการและโครงการเพื่อการอนุญาต 3.2 รับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและป่าชายหาดและนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ 3.3 นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบและยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี 3.4 ดำเนินการอนุญาต ตามแผนบริหารจัดการพื้นที่และหลักเกณฑ์ที่ผ่าน

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบพื้นที่เป้าหมาย และกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

2. การเตรียมการเพื่อเสนอนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เห็นชอบแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ โดยกำหนดให้แผนระดับที่ 3 หมายถึง แผนที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนระดับที่ 1 (ยุทธศาสตร์ชาติ) และแผนระดับที่ 2 (แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนความมั่นคง) และกำหนดการตั้งชื่อแผนในระดับที่ 3 โดยให้ใช้ชื่อว่า “แผนปฏิบัติการด้าน ... ระยะที่ ... (พ.ศ. .... - ....) เว้นแต่ในกรณีที่มีบทบัญญัติตามกฎหมายที่กำหนดชื่อแผนไว้แล้ว”

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

(1) การเสนอ “(ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2579)” ต่อคณะรัฐมนตรี โดยใช้ชื่อ “(ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2579)” มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ คทช. ที่กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557

(2) การปรับชื่อ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 - 2564) เป็น “แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560 - 2564)” เนื่องจากแผนฯ ดังกล่าวเป็นแผนในเชิงปฏิบัติที่ได้บรรจุแผนงาน/โครงการที่มีความชัดเจน และต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยการปรับชื่อดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญของแผนฯ ซึ่ง คทช. ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อคราวประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561

--------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ คทช.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ