สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561

ข่าวทั่วไป Friday August 3, 2018 15:51 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2561 เวลา 20.15 น.

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาตลอดรัชกาล โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ หลากหลายโครงการทั้ งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร สภาพสังคม รวมทั้งความเจริญทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า "เราจะครองแผ่นดิน โดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงอนุรักษ์ป่า ดังพระราชปณิธานที่ว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ด้วยโครงการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า สัตว์ทะเล จึงเกิดขึ้น และแผ่ขยายทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ให้ชาวบ้านช่วยพิทักษ์รักษาผืนป่า และต้นน้ำ โครงการป่ารักน้ำ นำความชุ่มชื้นคืนให้ผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งทรงสร้างจิตวิญญาณให้ป่า ด้วยการปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ ทรงอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลให้เติบโตขึ้น เป็นอาหารชาวโลก เป็นต้น

ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยทั้งยามปกติ และยามฉุกเฉิน ทรงส่งเสริมให้ประชาชนบริจาคโลหิตอย่างแพร่หลาย พระราชทานโครงการหมอหมู่บ้าน หน่วยแพทย์พระราชทาน ทรงรับคนไข้ยากจนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครที่บาดเจ็บ ทรงตระหนักในความสำคัญของการศึกษาและโปรดให้คนไทยทุกคนรู้หนังสือ ทรงอบรมให้เป็นคนดี มีความรักชาติ รักแผ่นดินเกิด โปรดให้ชาวบ้านในท้องที่ห่างไกล ได้รับความรู้เพิ่มเติมอันเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง "ศาลา รวมใจ" โดยพระราชทานหนังสือความรู้สาขาต่าง ๆ ไว้ ณ ศาลาเหล่านี้ พร้อมทั้งพระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กที่ครอบครัวยากจน

รวมทั้งทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริม ด้วยการฝึกหัดงานหัตถกรรม ต่อมาพัฒนาเป็นโครงการศิลปาชีพ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ราษฎร อีกทั้งเป็นที่มาแห่ง "งานศิลป์แผ่นดิน" เผยแพร่งานศิลปะของชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงาน "มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อัคราภิรักษศิลปิน" ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2561 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แด่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็น "อัคราภิรักษศิลปิน" หมายถึง "ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ" ที่ทรงนำมิติทางวัฒนธรรมมาส่งเสริมอาชีพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ให้อยู่ดีกินดี อีกทั้งยังส่งผลต่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟู มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมด้วย พระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้ พระเกียรติคุณอันแผ่ไพศาล สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิตติมศักดิ์ เกียรติบัตร เหรียญรางวัล รวมทั้งน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานาม ซึ่งล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ พระราชจริยวัตรและน้ำพระราชหฤทัย ที่เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2561 นี้ ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ บริบูรณ์ด้วย พระจตุรพิธพรชัย เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ ตราบนานเท่านาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นว่า ด้านวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเสมอภาคและเป็นธรรมบนรากฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยได้ออกแบบเป้าหมายที่ต้องบรรลุเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ ประกอบด้วย 6 ด้าน 1) คนไทยอยู่ดีมีสุขและสังคมไทยสงบ มั่นคง ปลอดภัย 2) ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ 3) ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม 4) สังคมไทยมีความเท่าเทียมและความเสมอภาค 5) ประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และ (6) การบริหารจัดการของภาครัฐ ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นเป้าหมายที่จะถูกนำไปใช้ เป็นกรอบความคิดในการจัดทำแผนงานของภาครัฐ แผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งผลจากการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและสถานะของประเทศไทยในเวทีโลกได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่เป็นรากฐานสำคัญกับการเจริญเติบโตในอนาคต ได้แก่ (1) ทางราง มีโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ภายในปี 2565 อีก 4 ปีข้างหน้า โดยจะมีรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นเป็น 3,528 กม. จากเดิมที่มีอยู่เพียง 358 กม. และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีทั้งเส้นทาง กทม.-นครราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่ ระยะต่อไป ตลอดจนโครงการ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินหลักของประเทศ ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา (2) ทางถนน ได้มีการเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญ ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งการขยายเพิ่มทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางพิเศษ 2 เส้นทางพัฒนาทางหลวงชนบท เพื่อแก้ปัญหาจราจร (3) ทางน้ำ เพิ่มท่าเรือน้ำลึก อีก 6 แห่ง รวมทั้งการเดินเรือเชื่อมพัทยา-หัวหิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล และ (4) ทางอากาศ เพิ่มท่าอากาศยานเบตง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นและรองรับผู้โดยสารของทุกสนามบินที่เพิ่มมากขึ้น ราว 70 ล้านคนต่อปีอีกด้วย

ตอนท้ายของรายการฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การพัฒนาประเทศด้วยแนวคิด ไทยนิยม เป็นแนวคิดหรือ Way of thinking ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ บนพื้นฐานของความต้องการความนิยมของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดความต้องการของคนในพื้นที่เป็นหลักสำคัญ เพื่อให้เกิดการประสานงานและเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ในรูปแบบกลไกประชารัฐ เพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ และสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ในการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อไป

………………………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ