รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือน้ำท่วมในห้วงฤดูฝนปี 2561 เตือนประชาชนภาคอีสาน ภาคเหนือ ระวังฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

ข่าวทั่วไป Friday August 10, 2018 14:53 —สำนักโฆษก

รัฐบาล โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือน้ำท่วมในห้วงฤดูฝนปี 2561 เตือนประชาชนภาคอีสาน ภาคเหนือ ระวังฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ขณะที่ภาคใต้เตรียมเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์ฝนตกในช่วงเดือนตุลาคม 2561

วันนี้ (10 ส.ค.61) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมดุตุนิยมวิทยา และนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการแบบบูรณาการ....แก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการและอำนวยการดูแลเรื่องแผนระบายน้ำต่าง ๆ ซึ่งแผนการระบายน้ำต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการคาดการณ์หรือการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะที่กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องดูแลเรื่องอ่างเก็บน้ำ โดยตั้งแต่ต้นฤดูฝน (26 พฤษภาคม 2561) มีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า 80% อยู่ 60 แห่ง และมีการพร่องน้ำออกอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เหลือ 34 แห่ง แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำที่เกิน 80% มีถึง 107 แห่ง โดยตั้งแต่หลังวันที่ 20 สิงหาคม 2561 หลายพื้นที่ต้องมีการเฝ้าระวังฝนตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และฝั่งตะวันตก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมกับร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ขณะที่เดือนกันยาน 2561 พื้นที่เฝ้าระวังคือภาคกลาง และช่วงเดือนตุลาคม 2561 พื้นที่เฝ้าระวังคือภาคกลางตอนล่าง รวมไปถึงภาคใต้ ทั้งนี้ นับจากวันนี้ถึง 20 สิงหาคม 2561 ประมาณ 10 วัน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ต้องเร่งระบายน้ำออก ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนั้นก่อนการดำเนินการต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมความพร้อมได้อย่างทันท่วงทีและปฏิบัติตนถูกต้อง โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมและปรับแผนให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโดยตลอด ซึ่งขณะนี้แผนการระบายน้ำในแต่ละพื้นที่อยู่ที่จังหวัดเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ตลอดจนระบบระบายน้ำทุกแห่งอย่างใกล้ชิด ซึ่งในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% จะมีการติดตามทุกชั่วโมง โดยใช้โมเดลการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งขณะนี้เขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเริ่มทรงตัวและลดลงตามลำดับ หากไม่มีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนในช่วงนี้

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังต้องมีการเฝ้าระวังอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่า 80% ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ ปราณบุรี และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำ 100% โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างฯ ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งจัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัยกรณีการระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างฯ และกรณีเขื่อนวิกฤติ สำรวจความแข็งแรงของเขื่อน และสร้างการรับรู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีการประสานการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกพื้นที่ เช่น การตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด (โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ) เพื่อติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสภาวะอากาศ น้ำท่า น้ำหลาก คลื่นลมทะเล ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบแนวโน้มเกิดสาธารณภัย จะมีการประสานสั่งการอพยพ/แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทันทีเพื่ออพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมความพร้อมของกำลังพล เครื่องจักร การประสานงานกับเหล่าทัพเพื่อขอสนับสนุนกำลังพลในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หากเกิดเหตุขึ้น

ขณะที่ในส่วนของการเฝ้าระวังและเตรียมการ กรมป้องกันฯ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สทนช. กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ การแจ้งเตือนจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ และการแจ้งข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องให้จังหวัดต่าง ๆ ได้รับทราบเพื่อจะปฏิบัติได้สอดคล้องตรงกัน

สำหรับการเตรียมการในพื้นที่โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชน นั้น กรมป้องกันฯ ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัด แจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ทุกช่องทาง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ วิทยุภาคเอกชน วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว อาสาสมัครในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง เพื่อประชาชนจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและเกิดความปลอดภัย ตลอดจนทราบถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารและแจ้งข้อมูลกับทางราชการ เพื่อขอความช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

---------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ