
สก. "นภาพล" จี้ กทม. ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นดอกเบี้ยบานวันละ 5.4 ล้านบาท ชี้แม้จ่ายหนี้บางส่วนแล้ว แต่ยังค้างอีกหลายหมื่นล้าน ด้าน สก. "สุทธิชัย" เตือน หาก BTS ขาดสภาพคล่องจนหยุดเดินรถ คนกรุงจะเดือดร้อนหนัก
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568 นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตบางกอกน้อย เสนอญัติขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานความคืบหน้าการดำเนินการชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ

โดยนายนภาพล กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ ค่าจ่างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงที่มีภาระหนี้ ตั้งแต่ กทม.เข้ามาดำเนินการ มีหนี้ที่ค้างชำระค่อนข้างมาก ถึงจะมีการจ่ายบางส่วนไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ กทม. เคยกล่าวว่าจะนำไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ในการเร่งรัดจ่ายหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาท/วัน เพราะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยเบื้องต้นจะทยอยจ่ายทีละงวด
นายนภาพล กล่าวว่า หนี้ก้อนแรกที่เราชำระไปแล้ว ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จำนวน 14,476 ล้านบาท ต่อมาหนี้ก้อนที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ยังไม่ชำระถูกศาลสั่งฟ้องอยู่ตั้งแต่เดือนมิ.ย.64 - ต.ค.65 ขณะนี้ต้องชำระเงินต้น 10,127 ล้านบาท ดอกเบี้ย 8% รวมต้องชำระ 12,345 ล้านบาท ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 (พ.ย.65 - ธ.ค.67) ที่ถึงกำหนดแล้ว แต่ยังไม่ได้ฟ้อง มีหนี้ค้างชำระอยู่ 14,235 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย 15,499 ล้านบาท และหนี้ในอนาคตจากประมาณการค่าจ้าง 6,248 ล้านบาท หากไม่ชำระตามสัญญา จะต้องเสียดอกเบี้ย 8% เช่นกัน ส่วนภาระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนม.ค.68 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 1,066 ล้านบาท หากยังไม่ชำระหนี้ จะยิ่งทำให้ดอกเบี้ยทวีคูณขึ้นไปอีก

นายนภาพล กล่าวว่า ประเด็นยอดหนี้ดอกเบี้ยนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ชำระหนี้ ผู้ถูกฟ้อง 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โดยมิพักต้องเตือน ดังนั้นการคำนวณดอกเบี้ย จึงเริ่มคำนวณถัดจากวันที่ 20 ของเดือนถัดไป ผู้ฟ้องมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดในสัญญาเงื่อนไขในการขอพิจารณาคดีใหม่ตามกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลที่จะรับหรือไม่รับคำร้อง
ส่วนเงื่อนไขการจะขอพิจารณาคดีใหม่ได้นั้น ต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไป เช่น มีเอกสารหลักใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ในครั้งแรก หรือมีข้อผิดพลาดในการพิจารณาคดี หรือมีการทุจริตในการพิจารณาคดีของศาล ศาลจะพิจารณาคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยละเอียด หากเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญ ศาลอาจมีคำสั่งให้รับคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่หากเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ ศาลก็จะยกคำร้อง
"คำถามคือ หนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับ กทม.ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และได้นำค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 มาชำระค่า O&M หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว แสดงว่า กทม. ยอมรับว่าสัญญาที่มีอยู่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถจ่ายได้ เหตุใดทาง กทม. จึงไม่เสนอของบประมาณเพื่อชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ทั้งหมด
ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. ชำระหนี้ให้ BTS ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็จะเห็นได้ชัดว่า กทม. รับว่าสัญญาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน อีกทั้งส่วนต่อขยายที่ 2 ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการถูกป.ป.ช. ชี้มูลแต่อย่างใด ผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยกำหนดในอัตราคงที่ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.67 ทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารที่ผู้รับจ้าง (BTS) ส่งให้กทม. ประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท ถึงปัจจุบันประมาณ 1,800 ล้านบาท เงินค่าโดยสารที่เก็บได้มีเหตุผลใดไม่นำมาชำระค่าจ้างเดินรถ และค่าซ่อมบำรุงจะได้ลดภาระดอกเบี้ย" นายนภาพล กล่ว
ส่วนการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายนภาพล กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องคิดให้ดีว่าหากสู้จนถึงแพ้คดีอีกครั้ง ซึ่งไม่แน่ว่าจะจบในปีนี้หรือไม่ และต่อไปอาจจะมีคดีใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ดอกเบี้ยวันละ 4.5 ล้านบาท กับดอกเบี้ยที่เกิดในปัจจุบัน ในอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้เช่นนี้ กทม.จะเสียหาย
ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก. เขตจอมทอง กล่าวว่า สัญญาที่ กทม. จ้างบริษัทบีทีเอสเดินรถ เงินค่าโดยสารที่ได้มาสามารถนำไปใช้ในกิจการเดินรถเท่านั้น และหากการจัดเก็บค่าโดยสารไม่พอ ต้องตั้งงบประมาณมาจ่ายให้ครบ ขณะนี้ปัญหาคือจัดเก็บค่าโดยสารไม่พอ และไม่ได้ขอจัดสรรงบประมาณมาให้ครบ ทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
"น่าเป็นห่วงว่า กทม.ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถให้ BTS หรือยัง ถ้า BTS ขาดสภาพคล่อง ไม่มีงบในการเดินรถ จะทำอย่างไร ประกอบกับดอกเบี้ยที่ยังคงเดินอยู่ทุกวันนี้ เป็นจำนวนที่สูงน่ากลัวมาก จึงขอให้ฝ่ายบริหารเร่งดำเนินการ" นายสุทธิชัย กล่าวขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่าไม่ได้ละเลย ที่ผ่านมา กทม.ชำระหนี้ไปแล้ว 38,000 ล้านบาท และต้องย้ำว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนที่พวกเราเข้ามา
"เบื้องต้นเข้าใจว่าได้มีการชำระไปแล้ว 2 ส่วน เราพยายามลดหนี้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะยังมีคดีอยู่ในศาล อาจจะถูกอ้างได้ว่าสัญญามีผล ส่วนสัญญาจะเป็นโมฆะหรือไม่ เราไม่มีอำนาจตัดสิน เพราะหลายเรื่องมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเราไปเจรจาก่อนและเร่งจ่ายเงิน ซึ่งเราก็ทำ เราไม่ได้หยุดนิ่ง มีการทำหนังสือหลาย ๆ หน่วยงาน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งเฉย แต่จะต้องทำทุกอย่างให้รอบคอบ" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ