นายกรัฐมนตรี พบนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นำไทยไปด้วยกัน พร้อมรับมอบสมุดปกขาวงานวิจัยที่มีคุณภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 31, 2018 14:38 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี พบนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นำไทยไปด้วยกัน พร้อมรับมอบสมุดปกขาวงานวิจัยที่มีคุณภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยย้ำให้นำวิทยาศาสตร์พัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจนและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (31 ต.ค. 61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ “นักวิทย์รุ่นใหม่ นำไทยไปด้วยกัน – Reinventing Thailand @ Young Scientists” จำนวน 500 คน เพื่อนำเสนอและมอบสมุดปกขาวการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความพร้อมนำศักยภาพนักวิทย์รุ่นใหม่ กำหนดอนาคตไทย ก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพและผลกระทบสูง ที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทย มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณาจารย์ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบข้อเสนอประเด็นวิจัยขั้นแนวหน้า “การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ” ซึ่งเกิดจากการระดมสมองของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จนตกผลึกนำมาสู่ประเด็นวิจัยขั้นแนวหน้าดังกล่าว โดยมีผู้แทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 5 คน ประกอบด้วย ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ ดร.วศะพร จันทร์พุฒ นพ.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ และดร.พินิจ กิจขุนทด เป็นผู้นำเสนอประเด็นวิจัยขั้นแนวหน้า ได้แก่ เรื่อง อาหารเพื่ออนาคต (Food for the Future) การแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า (Health Frontier) พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) และการป้องกันภัยคุกคาม/รับมือความเสี่ยง และสร้างโอกาสในอนาคต (Future Threats and Opportunities) โดยระบุว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายในระยะเวลา20 ปี นั้น เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ เนื่องจากต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแข่งขันอย่างรุนแรงในเวทีโลก และต้องเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการจะยกระดับประเทศที่สู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 การวิจัยขั้นแนวหน้าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมประเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมขอให้รัฐบาลสนับสนุน 2 ข้อ คือ 1. งานวิจัย Frontier Research ซึ่งเป็นงานวิจัยที่คาดหวังผลในระยะยาว จำเป็นต้องมีเงินลงทุนที่มากพอและมีความต่อเนื่อง 2. การจัดสรรด้านการบริหารงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ที่ควรจะมองที่ความเป็นเลิศของงานวิทยาศาสตร์เป็นหลัก โดยหากรัฐให้การสนับสนุน วงการวิทยาศาสตร์ก็พร้อมจะก้าวไปไปข้างหน้า เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ของโลกได้

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้กำลังใจนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และรุ่นเก่า พร้อมกล่าวเน้นย้ำว่า นักวิทยาศาสตร์ทุกคนถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของชาติและเป็นกำลังสำคัญที่เป็นความหวังของประเทศในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (มี 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปฏิรูประบบราชการ) เพื่อนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาในอนาคต โดยงานวันนี้ต้องถือเป็นความร่วมมือทั้งนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่จะต้องร่วมมือกันนำไทยไปด้วยกัน ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนต้องตระหนักและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะการนำการวิจัยและวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดับความยากจนและประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ในอีก 5 - 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า และหาแนวทางในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะกลุ่ม 1.0 ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งศึกษาเรียนรู้วิจัยจากธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพที่ประเทศไทยอยู่นำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอนาคตตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีการจัดสรรลงไปในแต่ละพื้นที่ทั้งในส่วนของภูมิภาค จังหวัด กระทรวง ตลอดจนงานฟังก์ชัน งานบูรณาการ และงานตามนโยบายรัฐบาล โดยการใช้จ่ายงบประมาณต้องโปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นอย่างคุ้มค่า

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ว่า นอกจากการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนแล้ว ยังต้องมีการกำหนดกระบวนการที่เหมาะสมและห้วงเวลาในการวิจัยให้ชัดเจนด้วย เพื่อนำผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และให้เป็นไปอย่างสอดคล้องการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเตรียมความพร้อมของคนไทยทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ โดยย้ำว่า วิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องที่จะนำผลการวิจัยไปพัฒนาสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการพัฒนาคน และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนโมเดลประเทศไทย 4.0 ตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้หลักคิด “เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน” (Strong Together) และ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leave No One Behind)

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้นำงานวิจัยมาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องของการจัดทำผังเมืองเพื่อแก้ปัญหาความแออัดและการจราจร การทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น การแก้ปัญหาน้ำเสีย การท่องเที่ยว การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย การเกษตรปลอดภัย การช่วยเหลือโรงงานขนาดเล็ก การสาธารณสุข ฯลฯ รวมทั้งต้องทำงานวิจัยให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ตลอดจนการใช้ผลงานวิจัยในการอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นในเรื่องหรือโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนพร้อมสนับสนุนให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ต่อไป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร บนพื้นฐานของปัญญาหรือองค์ความรู้ ก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากภายนอก ด้วยการสร้างและพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี ไปพร้อม ๆ กับการร่วมรังสรรค์เทคโนโลยีกับภายนอก ซึ่งจะต้องสร้างสมดุลใน 3 เรื่อง คือ การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development) การจัดซื้อเทคโนโลยี (Technology Acquisition) และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เพื่อให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น รวมทั้ง ให้ความสำคัญต่อการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัย โดยมีนโยบายสนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศและจัดระบบการบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำไปสู่สังคมนวัตกรรม และการปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจ ระเบียบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาการวิจัยและพัฒนาในระดับภาคหรือกลุ่มจังหวัด ตลอดจนเร่งผลักดันงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การส่งเสริมให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทย และส่งเสริมการใช้เครื่องมือวัสดุ และสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศในวงกว้าง และมีการปรับปรุงและจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนา และด้านนวัตกรรม

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกันขับเคลื่อนในการวิจัยพัฒนาและวิทยาศาสตร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ในการ “สร้างไทยไปด้วยกัน” โดยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจาก “ทำมาก ได้น้อย” เป็น “ทำน้อย ได้มาก” ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ดังนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคแล้ว 3 แห่ง และกำลังจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ควบคู่ไปกับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ในพื้นที่ EEC เพื่อกระจายการลงทุนและการจ้างงานไปยังส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการสำรวจรวบรวมจำนวนนักวิทยาศาสตร์และผลงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ทราบจำนวนที่แท้จริง (bigdata) เพื่อใช้ในการนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดและสนับสนุนบุคลากรด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์ให้เข้าไปทำงานทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน และให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถด้วย โดยในส่วนของการวิจัยที่ผู้แทนวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำเสนอนั้นจะสามารถช่วยยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถก้าวไปเป็นประเทศที่สามารถสร้างและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมบนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่เพื่อตอบสนองความจำเป็นของประเทศ ความต้องการของตลาดและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้งานด้านวิทยาศาสตร์ของไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้น อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ฝากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และรุ่นเก่าทุกคน ร่วมกันศึกษา วิจัย คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผู้อื่นและสังคมเพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและต่อยอดสร้างสรรค์ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการในทุกภาคการผลิตให้มีคุณภาพ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ประชาชนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้รับมอบสมุดปกขาวจากผู้แทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

-------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ