สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561

ข่าวทั่วไป Friday November 2, 2018 14:24 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น. ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือตอนบนและเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเข้ากับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึง ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค GMS BIMSTEC และ AEC แบบ Multi-destination ตามนโยบาย “ประเทศไทย + 1, +2, +…” ได้ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานยังรวมไปถึงกฎระเบียบการข้ามแดนเพื่อรองรับการขยายตัวของเส้นทางข้ามแดนใหม่ ๆ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในอาเซียนและนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3 ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดนี้ มีวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่อเนื่อง สร้างมูลเพิ่มให้ท้องถิ่น อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรม และสุขภาพ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

ด้านการค้า การลงทุน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา ให้เป็นด่านถาวร เพื่อสนับสนุนการค้า รวมทั้ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรม SMEs 4.0 เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป ผ่านการยกระบบคุณภาพ การเชื่อมโยงการตลาดและธุรกิจออนไลน์ อีกทั้งจะต้องนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการผลิตอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย

ด้านการเกษตร มีการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนาเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยเร่งรัดพัฒนาสารกำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมี เพื่อให้สามารถเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร การพัฒนาและส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง อีกทั้ง การเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ประกอบการใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรที่แปลกใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการเชื่อมต่อทั้งระบบ ทั้งถนนและรถไฟ อาทิ การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และภายในกลุ่มจังหวัด การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งทางราง ที่จังหวัดพะเยา และเร่งออกแบบแผนแม่บทโลจิสติกส์ เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงของ รวมทั้ง ศึกษาและกำหนดตำแหน่ง จุดพักกระจายสินค้า และจุดพักรถที่เหมาะสมในจังหวัดพะเยา ด้วย

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนส่วนนี้ เป็น “เมืองต้นแบบสุขภาวะในผู้สูงวัย” ซึ่งจะใช้หลักการปฏิรูปสาธารณสุขภาครัฐ โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกัน การรักษา และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลสุขภาพ รวมทั้ง การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สมุนไพรครบวงจร ไปสู่เชิงพาณิชย์ และศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ที่มีการพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้ ถือเป็น “แหล่งต้นน้ำ” ที่สำคัญของภูมิภาค และของประเทศ จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตั้งแต่ “ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง” ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องพิจารณาดำเนินการตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้สอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่ และแผนงานงบประมาณด้วย

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกลุ่มจังหวัด ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามแผน ตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้ง ยังได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด และขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วย ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ตามแนวทางประชารัฐ

นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” คือ การสร้าง “ฝายมีชีวิต” ที่เป็นการผสมผสาน “หลักการทรงงาน” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น การมีส่วนร่วม การระเบิดจากภายใน การปลูกป่าในใจคน การให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึง “ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม” เป็นต้น โดย “ฝายมีชีวิต” เป็นกลไกบรรเทาความรุนแรงน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และยังเป็นการเติมน้ำใต้ดิน หรือ “ชลประทานใต้ดิน” ด้วยกลไกทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่โดยรอบตัวฝายมีความชุ่มชื้น นอกจากนี้ คุณประโยชน์ของฝายมีชีวิตยังมีอีกมาก เช่น ประปาหมู่บ้าน ตลอดปี ซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน นอกจากนี้ กระบวนการสร้างฝายมีชีวิต ที่เน้นการมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรักษา ร่วมพลัง แบบจิตอาสา รวมทั้ง ยังมีข้อกำหนดเพื่อดูแลรักษาฝายร่วมกัน เรียกว่า ธรรมนูญฝายมีชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ของกระบวนการประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วม และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองอีกด้วย

สำหรับกระบวนการสร้างเครือข่ายฝายมีชีวิต รัฐบาลเห็นความสำคัญในการสร้างฝายมีชีวิต ตามความเหมาะสมของแต่ละลุ่มน้ำ โดยตั้งเป้าหมายสร้างฝาย 5,000 แห่ง ใน 1 ปี และสร้าง 60,000 แห่ง ในระยะ 5 ปี ทั้ง 25 ลุ่มน้ำของประเทศ โดยเน้นการระเบิดจากภายในของแต่ละลุ่มน้ำ แล้วภาครัฐจะสนับสนุน การวิจัย การสร้างครูฝาย ไปจนถึงการสร้างฝาย อย่างเป็นระบบ หากทุกคนร่วมกันสร้างฝายมีชีวิตให้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่โดยรอบๆ ฝาย ก็จะได้รับผลประโยชน์จากความชุ่มชื้น เกิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน เกิดชีวาธิปไตยหรือประชาธิปไตยที่มีชีวิต

นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว พร้อมทั้ง ยังเป็นห่วงเรื่องการใช้รถ ใช้ถนนของพี่น้องประชาชน การขับขี่รถให้ปลอดภัยทุกคนต้องร่วมใจปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งตนเอง ครอบครัวด้วย

............................................................

กลุ่มยุทธศาสตร์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ