กพอ. เห็นชอบแผนยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี เร่งพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Friday December 6, 2019 14:05 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี ย้ำให้ความสำคัญการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนในพื้นที่อีอีซี ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ โดยใช้เทคโนโลยีเทเลเมดิซีน เข้ามาส่งเสริมบริการทางการแพทย์

วันนี้ (6 ธ.ค.62) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 11/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน และการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซี โมเดล เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญและครอบไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ EEC เช่น ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว แรงงานทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ฯลฯ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลทางการแพทย์ระดับปฐมภูมิให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ ตลอดจนการรักษาพยาบาลด้วยระบบทางไกล หรือเทเลเมดิซีน เข้ามาช่วยเหลือ และส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ อีกทั้งมอบหมายให้กระทวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางในการผลิตวัคซีนที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพของประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ เป็นต้น และเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทย

ภายหลังการประชุม นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมด้วย นายสุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุมสรุป ดังนี้ โดยที่ประชุมเห็นชอบ แผนยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีหลักการ 3 ด้าน ในการดำเนินงาน 14 โครงการ ได้แก่ 1) จัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ 2)รัฐและเอกชนร่วมทุน โดยเป็นการลงทุนระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ โดยจัดทำการบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน และ 3) เครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่างๆ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรอื่นร่วมกัน

รวมทั้งได้มีการพิจารณาการจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน รองรับปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณ 4,200 ตัน/วัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตัน/วัน ในปี 2580 เพื่อให้การบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี เกิดขึ้นอย่างประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีการเสนอกรอบแนวทางขยายผลต้นแบบของระยองโดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 3 จังหวัด อีอีซี เพิ่มอีก 6 แห่ง ซึ่งสามารถกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวัน และขยะสะสมรวม 6,000 ตัน/วัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวันและกำจัดขยะที่สะสมได้กว่า 5.57 ล้านตัน ในพื้นที่ อีอีซี ให้หมดไปภายใน 12 ปี โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1) ให้ สกพอ.ประสานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้กลุ่มบริษัท ปตท. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าร่วมศึกษา 2) ให้จังหวัดในพื้นที่อีอีซี เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และ 3) ให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ ในพื้นที่อีอีซี

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อยกระดับศักยภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพได้อย่างมั่นใจ และทำงานได้ค่าตอบแทนสูง ด้วย

*******************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ