ศบค. แจง สธ.ขยายขอบเขตของผู้ป่วยเพิ่ม 4 กรณี ที่ต้องสอบสวนโรคไวรัสโคโรนา 2019

ข่าวทั่วไป Wednesday April 8, 2020 15:49 —สำนักโฆษก

ศบค. แจง สธ.ขยายขอบเขตของผู้ป่วยเพิ่ม 4 กรณี ที่ต้องสอบสวนโรคไวรัสโคโรนา 2019

วันนี้ (8 เม.ย. 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการของรัฐ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ

วานนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี และมีมติให้การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคนในชาติทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศต้องได้รับการดูแล และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการต่าง ๆ โดยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงหรือสามารถประสานงานไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง

2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย/โลก

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่วันนี้คือ 111 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,369 ราย หายป่วย 888 ราย เสียชีวิต 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 30 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 28 เป็นชายสัญชาติรัสเซียอายุ 48 ปี มีประวัติเดินทางไป จ.ภูเก็ต ในช่วง 18-21 มีนาคม 63 เริ่มป่วย 22 มีนาคม 63 รับการรักษาครั้งแรก 25 มีนาคม 63 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ด้วยอาการไข้ 38.4 องศา ไอเจ็บคอ โดยผู้ป่วยพักอยู่ที่บ้านด้วยตัวเองและเสียชีวิตเมื่อช่วงบ่าย 5 เมษายน 63 สำหรับรายที่ 29 เป็นผู้ป่วยชายสัญชาติอินเดีย อายุ 69 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว มีประวัติป่วยเป็นโรคประจำตัวเบาหวาน โรคหัวใจ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ 21 มีนาคม 63 โดยมีไข้ 39.3 องศา มีอาการไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อและถ่ายเหลว ส่งต่อไปโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่งในวันที่ 29 มีนาคม 63 อาการผู้ป่วยก็ไม่ดีขึ้นและเสียชีวิต 7 เมษายน 63 และผู้ป่วยรายที่ 30 เป็นชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 69 ปี มีโรคประจำตัวคือ ไตเรื้อรัง เริ่มป่วยด้วยอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก เข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ. บุรีรัมย์ ต่อมามีอาการหายใจหอบเหนื่อย ใส่ท่อช่วยหายใจเมื่อ 23 มีนาคม 63 และเสียชีวิต 7 เมษายน 63

โฆษก ศบภ. กล่าวว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายเป็นชาวต่างชาติ เชื่อมโยงกับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและชาวต่างชาติ เมื่อวิเคราะห์จากกราฟที่พุ่งทะยานเพราะตรวจพบผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซียรวม 42 รายในกลุ่มเดียวกัน โดยกลุ่มหลักยังคงเป็นกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับคนอื่นจำนวน 69 ราย กลุ่มที่ประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ 37 ราย โดยการตรวจผู้ที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียอย่างละเอียดวานนี้ยืนยันว่ามีเชื้อโควิด-19 จำนวน 42 ราย ถือเป็นความละเอียดทางการแพทย์สาธารณสุขไทยที่ทำงานร่วมกับท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แม้ก่อนเดินทางกลับจะได้รับการยืนยัน มีใบรับรองแพทย์มาแล้ว เมื่อกลับถึงไทยต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง ดังนั้น จึงทำให้ตัวเลขรวมผู้ป่วยใหม่วันนี้เป็น 111 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวเลขการตรวจหาเชื้อจากคนเดินทางมาจากกาตาร์ เกาหลีใต้ โดยผู้ที่เดินทางจากเกาหลีใต้ 57 ราย พบไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง 8 ราย ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาจากกาตาร์ 14 ราย ตรวจแล้วไม่พบเชื้อจึงให้ State Quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ที่กรุงเทพฯ ขอให้อุ่นใจว่ากระบวนการนี้ หน่วยราชการจะร่วมช่วยกันดูแล

ทังนี้ โฆษก ศบค. กล่าวว่าคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะมีมากขึ้น จะเป็นกลุ่มก้อนใหม่ที่จะต้องเฝ้าระวัง ในส่วนคนไทยที่อยู่ในประเทศอีก 60 กว่าล้านคน ก็ต้องระวังเหมือนกันต้องดูแลตัวเอง ทั้ง 42 รายที่ตรวจพบเชื้อและ 8 ราย ได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลแล้ว สำหรับคนอื่น ๆ ที่เดินทางกลับเข้าไทยก็ต้องไป State Quarantine ที่สัตหีบ ซึ่งมีการดูแล 24 ชั่วโมง เพื่อให้ชัดเจนว่าภายใน 14 วันไม่มีอาการไข้ ก็กลับไปอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติ สำหรับคนที่อยู่ที่บ้านขออย่าออกจากบ้าน ต้องช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งจากคนในประเทศและคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศให้ลดน้อยลง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลคนไทยทุกคน ทั้งคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและต้องดูแลคนที่อยู่เมืองไทยด้วย

โฆษก ศบค. กล่าวว่า เมื่อดูจากแผนภูมิจำนวนผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ ตามจำนวนที่ได้รับการรักษา พบว่า กรุงเทพฯ มีจำนวน 1,223 ราย นนทบุรี 141 ราย มีจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมา 1 จังหวัดคือ จ.สตูล ทั้งนี้ ยังเหลืออีก 10 จังหวัดที่ต้องช่วยกันเต็มที่ รวมทั้งต้องให้กำลังใจกรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต ที่พยายามลดจำนวนตัวเลขลง สำหรับอัตราส่วนผู้ป่วยที่สูงสุดต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน อยู่ที่ จ.ภูเก็ต คือ 33.9 รายต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 21.6 ราย ทั้งนี้ เพื่อนำมาจัดมาตรการแยกเฉพาะสำหรับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง โดย จ.ภูเก็ต ใช้มาตรการ Active Case Finding เป็นการสแกนหาเคสผู้ป่วยโดยเร็ว ด้วยการใช้ข้อมูลขีดวงผู้ติดเชื้อ นำคนที่อยู่ใกล้มาตรวจตามวิธีการทางระบาดวิทยา โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้รายงานการเจาะพื้นที่เพื่อสแกนหาผู้ที่ติดเชื้อที่ถนนบางลา และ อ.กระทู้ สามารถเก็บตรวจได้ประมาณ 2,000 กว่าคนภายใน 1 วัน จึงเห็นตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นภูเก็ตโมเดล โดยจะค้นหาไปเรื่อย ๆ เพื่อลดจากอันดับที่ 1 ลงมาให้ได้ ขอให้คนในจังหวัดต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้ตัวเลขลดลงให้ได้

โฆษก ศบภ. กล่าวถึงผู้ป่วยรายใหม่ว่า กรุงเทพฯ มี 23 ราย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีตัวเลขที่นำนนทบุรี เพราะเกิดขึ้นจากการรับคนที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อดูจากแผนภูมิพบว่าต่างจังหวัดมีตัวเลขพุ่งทะลุขึ้นอีกรอบ จากการสอบสวนพบว่า เกิดจากการกระจุกตัวในการเดินทาง การร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนทั้งสิ้น เมื่อดูจากแผนภูมิปัจจัยเสี่ยงของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกของจังหวัดที่กระจายทั่วประเทศเป็นการสัมผัสโรคจากต่างประเทศ พบว่า คนจีนส่วนใหญ่เดินทางมาที่กรุงเทพฯ นนทบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้ออยู่ในกลุ่มนั้น ขณะที่คนสหรัฐอเมริกาไปที่บุรีรัมย์ คนเบลเยียมไปเพชรบูรณ์ ปากีสถานไปที่ตาก ทำให้เห็นภาพการกระจายไปทั่วทุกภาค ขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยมีประวัติกลับมาจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน อิหร่าน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย กระจายไปที่ชลบุรี นครศรีธรรมราช ปทุมธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำพูน ซึ่งไปทั่วประเทศเหมือนกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่พบมากที่สุด คือสนามมวย เนื่องจากมีคนจากต่างจังหวัดเข้ามาดูมวยที่กรุงเทพฯ แล้วกลับไปบ้าน โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากกรณีของสนามมวยเป็นกลุ่มก้อนใหญ่คือ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ฯลฯ และมีจังหวัดที่มีผู้สัมผัสกับคนดูมวยคือมุกดาหาร สถานบันเทิงก็เป็นอีกกลุ่มก้อนหนึ่ง โฆษก ศบภ. ย้ำว่า เชื้อโรคไม่มีพรมแดนไม่มีขอบเขต ไม่มีช่วงเวลาที่จะทำงานหรือไม่ทำงาน ฉะนั้นต้องเรียนรู้จากการติดเชื้อและคนที่เจ็บป่วย

โฆษก ศบภ. ยังกล่าวถึงการตรวจผู้ติดเชื้อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายขอบเขตของผู้ป่วยที่จะต้องสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 4 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 มาจากกลุ่มก้อนที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบิน ด่านทางบกรอบประเทศไทย โดยบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาขึ้นไป จะถูกดึงเข้ามาตรวจหรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก โดยจะมีเฉพาะ 4-5 อาการนี้ ไม่มีไข้ก็ได้ หรือมีไข้แต่ไม่มีอาการดังกล่าวก็ได้ มีประวัติเดินทางไปหรือมาจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ ทั่วทุกประเทศทั่วโลก ถ้ามีความเสี่ยงอย่างนี้ก็มาตรวจได้ฟรี

กรณีที่ 2 คือการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ได้แก่ 2.1 ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ 37.5 องศาขึ้นไป หรือมีประวัติว่ามีไข้ร่วมกับอาการ 4-5 อย่าง หรือมีปอดอักเสบด้วย และมีปัจจัยเสี่ยงมีประวัติการเดินทาง 14 วันก่อนหน้านี้ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก หรือที่บ้าน ที่ทำงานมีคนป่วยเป็นไวรัสโควิด-19 แล้วมีการสัมผัสมา 2.2 ผู้ที่มีปอดอักเสบ เอ็กซเรย์พบอาการ ถ้าหาสาเหตุไม่ได้รักษาแล้วอาการไม่ดี มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต หรือหาสาเหตุไม่ได้ เอ็กซเรย์ปอดแล้วเข้าได้กับไวรัสโควิด-19 จะได้รับการตรวจฟรีและตรวจโดยเร็ว

กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จะต้องมีการดูแลอย่างเร็วทุกราย แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย หรือสงสัยว่าป่วย ก็จะได้รับการตรวจทันที กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ผลการตรวจ PCR ต่อเชื้อไข้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบจากทุกรายที่มีการส่งตรวจ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่อาจจะสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ตรวจไข้หวัดใหญ่ชนิด A B มีผลตรวจเป็นลบ ไม่เจอ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง กรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไป กลุ่มก้อนนี้ให้เข้ามาตรวจได้ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการที่กรุงเทพฯ สามารถรองรับการตรวจสารคัดหลั่งในโพรงจมูกได้ถึง 10,000 รายต่อวัน ต่างจังหวัดตรวจได้ประมาณ 10,000 รายต่อวันเช่นกัน ถ้าเข้าเงื่อนไขตามกลุ่มที่กล่าวมา รัฐจ่ายให้ทั้งหมดเพื่อการควบคุมโรคจะได้ประสบความสำเร็จ

โฆษก ศบภ.ยังรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโลก ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,400,000 กว่าคน เสียชีวิตไป 81,972 คน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43

3. รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิว

รายงานวันที่ 8 เมษายน 63 จากตัวเลขฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นการสนธิกำลังของทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง พบประชาชนกระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 1,156 ราย พบการมั่วสุมรวมกลุ่มชุมนุม 72 ราย ยอดรวม 1,232 ราย มีการตักเตือน 135 ราย และดำเนินคดี 949 ราย รวม 1,084 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำงานตามหน้าที่ จึงอยากวิงวอนพี่น้องประชาชนอย่ากระทำความผิด ขอให้ประชาชนอยู่บ้านมากที่สุด

4. คนไทยที่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับไทย

กรณีคนไทยที่ติดค้างจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า Transit ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ เนื่องจากมีการหยุดรับเครื่องบินขาเข้าจนถึงวันที่ 18 เมษายน นี้ โดยยกเว้นเฉพาะเที่ยวบินที่ได้มีการขออนุญาตไว้ก่อนเท่านั้น ซึ่งวันนี้ จะมีเที่ยวบิน NS847 ที่เดินทางจากประเทศญี่ปุ่น เดินทางออกในเวลา 08.50 น. ตามเวลาประเทศไทย มีผู้โดยสารคนไทยทั้งสิ้น 32 คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารที่ติดค้างจากการเลื่อนเวลาเดินทาง (Transit) จำนวน 15 คน และคนไทยเพิ่มเติมอีก 17 คน จะเดินทางมาถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 15.30 น. ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้ง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมการดูแลต้อนรับผู้โดยสารจากเที่ยวบินนี้แล้ว ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวที่ให้การดูแลทั้ง 32 คนอย่างดี ถึงอย่างนั้นผู้โดยสารทุกคนต้องอยู่ใน State Quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้เท่านั้น เพราะเป้าหมายคือ ต้องการควบคุมโรคมากกว่าความสะดวกสบาย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ