ศบค. ออกข้อกำหนดเพื่อผ่อนคลายมาตรการในการอำนวยสะดวกการดำรงชีวิตของประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2020 15:13 —สำนักโฆษก

ศบค. ออกข้อกำหนดเพื่อผ่อนคลายมาตรการในการอำนวยสะดวกการดำรงชีวิตของประชาชน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงถึงข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ว่ารัฐบาลได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ โดยคำนึงถึงขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ประเภทของกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อย สถานที่ซึ่งสามารถจัดระบบควบคุมดูแล และผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำมาตรการป้องกันโรคมาบังคับใช้ได้เป็นลำดับแรก โดยใช้ช่วงเวลาระยะแรกนี้เตรียมการเพื่อรองรับการจัดระบบตามมาตรการและคำแนะนำของทางราชการไปพลางก่อน รวมทั้งให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทำการ หรือการผ่อนคลายใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ให้ขยายระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพิ่มอีกหนึ่งเดือน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 – 31 พ.ค. 2563 เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยพิจารณาให้คงมาตรการหลักๆ ต่อไปนี้

1.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (curfew) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.

2.ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขยายการห้ามอากาศยาน บินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน (1-31 พฤษภาคม 2563)

3.งด หรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น

4.งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อโควิด-19

5.ยังคงแนวทางการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50

อย่างไรก็ตามมาตรการที่ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดออกมาก่อนหน้านี้ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเช่นเดิม ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการบังคับใช้ของข้อกำหนดใหม่ และเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตภายใต้มาตรการป้องกันโรค และคำแนะนำด้านสุขภาพของทางราชการ จึงกำหนดมาตรฐานกลางของกิจกรรมประเภทสีขาว ได้แก่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในหลายพื้นที่ และการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนี้

  • ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน/ ถนนคนเดิน แผงลอย
  • ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศรีม (นอกห้างสรรพสินค้า) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น / หาบเร่
  • ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร รถเร่หรือรถคล้ายคลึงกันวิ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม/ ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจ สื่อสารโทรคมนาคม
  • กิจกรรมในสวนสาธารณะ (เฉพาะกิจกรรมที่ไม่เกิดการกระจายของฝอยละอองน้ำลาย และสารคัดหลั่ง) ได้แก่ เดิน ไทเก๊ก เป็นต้น และกิจกรรมสนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู กอล์ฟและสนามซ้อม
  • ร้านตัดผม (เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม)
  • ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์
โดยมีมาตรการควบคุมหลัก ได้แก่

1.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการจัดกิจกรรม และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน

2.ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเสมอ

3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

4.ให้เว้นระยะห่าง หรือระยะนั่งหรือยืน ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

5.ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ