โฆษก ศบค. ไทยเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ รองรับหากเกิดการระบาดรอบ 2 ย้ำจำกัด 11 กลุ่ม คนไทยและคนต่างประเทศในการเดินทางเข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2020 13:41 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. ไทยเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ รองรับหากเกิดการระบาดรอบ 2 ย้ำจำกัด 11 กลุ่ม คนไทยและคนต่างประเทศในการเดินทางเข้าประเทศ

วันนี้ (1 กรกฎาคม 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงสื่อมวลชนถึงสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสวิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีสนามมวยสามารถจัดการแข่งขันโดยที่ไม่มีคนเข้าไปชมในสนาม โดยสามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านโทรทัศน์เช่นเดียวกับมาตรการของประเทศต่างๆ ที่จัดการแข่งขันโดยที่ไม่มีผู้ชม ลดความเสี่ยงของกองเชียร์ทั้งหลาย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นผู้กำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งหากจะมีการแข่งขันผู้จัดสามารถขอคำปรึกษาและขออนุญาตจากต้นทางเหล่านี้ได้

โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นหลักแสนต่อวันว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมหากเกิดการระบาดในรอบ 2 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีการหยิบยกขึ้นพูดมาในที่ประชุม ศบค. ทั้งการความพร้อมของเตียงผู้ป่วยในกทม. โรงแรมที่จัดทำเป็นสถานที่พักของผู้ป่วย 568 เตียง ในเขตสุขภาพที่ 1-12 ทั่วประเทศยกเว้น กทม. ความพร้อมด้านเวชภัณฑ์ N 95 มี 1,127,970 ชิ้น PPE 511,578 ชุด เครื่องช่วยหายใจ 11,096 เครื่อง และความพร้อมด้านยา Favipiravir จำนวน 319,994 เม็ด ใช้ได้ประมาณ 4,571 คน

สำหรับมาตรการการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยจะจำแนกตามพื้นที่แต่ละประเภท โดยแยกกัก (Isolation) กันกัน (Quarantine) มี 4 รูปแบบ อาทิ 1) Local Quarantine คือ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ระดับจังหวัด สำหรับผู้เดินทางข้ามจังหวัด State Quarantine คือ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ สำหรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ Alternative State Quarantine คือ สถานที่กักตัวทางเลือก สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางที่กลับมาจากต่างประเทศ ได้เฝ้าระวังสังเกตอาการ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามความต้องการที่เลือกไว้ 2) Home (Self) กักตัวอยู่ในบ้าน 3) Organizational Quarantine 4) Hospital Quarantine และคุมไว้สังเกต (Close Observation) มาตรการดังกล่าว จะเป็นมาตรการที่เราจะใช้ในฉบับที่ 12 นี้ พร้อมมั่นใจว่า คนไทย 60 ล้านคนจะได้รับการดูแลสุขภาพไปด้วยกัน

โฆษก ศบค. กล่าวถึงกรณีที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 12) กล่าวถึงกลุ่มผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ได้แบ่งกลุ่มคนออกมาเป็น 11 กลุ่ม 1. ผู้มีสัญชาติไทย 2. ผู้มีเหตุยกเว้น 3. บุคคลในคณะทูต 4. ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น 5. ผู้ควบคุมยานพาหนะ 6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส 7. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 8. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงาน 9. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในประเทศ 10. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศ 11. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ ซึ่งทั้ง 11 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางไปมาทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ โดย ศบค.ได้หารือกันอย่างละเอียด เพื่อติดตามทุกคนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อรักษาสถานภาพการเป็น 0 ภายในประเทศให้ได้นานที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย 60 ล้านคนในประเทศ

โฆษก ศบค. ยังอธิบายถึงมาตรการเฝ้าระวังของการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในระยะที่ 5 ซึ่งเป็นไปตามประกาศคำสั่งของศูนย์ราชการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 5 ที่ผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ โดยแนะนำให้อ่านมาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในประกาศ โดยเฉพาะมาตรการเสริม และจะมีการเข้าไปตรวจโดย ศปก. ศปม. ฝ่ายมั่นคง ฝ่ายพื้นที่ท้องถิ่น โดยผู้ที่ทำการตรวจสอบจะต้องมีแอปพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” เพื่อป้องกันการแอบอ้าง และจะมีมาตรการควบคุมกำกับ ทั้งชุดตรวจและกิจการ ขอให้ทุกๆท่านมั่นใจและให้ความร่วมมือในระบบนี้

ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. ยังแนะนำว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าโรคใดก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันตัวเอง หลักการของการติดต่อโรคของโรคไข้หวัดใหญ่คือทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับโรคโควิด-19 หากป้องกันด้วยการ “อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ” ก็จะควบคุมการติดต่อของโรคต่างๆ ได้ไม่เพียงแค่เฉพาะโรคโควิด-19

...............................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ