โฆษก ศบค. เผยร่างข้อปฏิบัติ Medical and Wellness Program มี 3 ระยะและ ขณะนี้มี 57 โรงพยาบาลเอกชนที่สมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2020 15:05 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. เผยร่างข้อปฏิบัติ Medical and Wellness Program มี 3 ระยะและ ขณะนี้มี 57 โรงพยาบาลเอกชนที่สมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว

วันนี้ (3 กรกฎาคม 63) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันและมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,180 ราย อยู่สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 243 ราย ผู้ที่หายป่วยแล้ว 3,066 ราย เหลือผู้ที่ยังมีรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 56 ราย ผู้เสียชีวิตยังคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ที่เดินทางมาจากบาร์เรน เข้า State Quarantine ที่จังหวัดชลบุรี ทำให้บาร์เรนเป็นประเทศอันดับที่ 16 ที่มีคนไทยกลับมารวมสะสม 827 ราย พบเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย เพิ่มขึ้นวันนี้ 1 ราย โฆษก ศบค. กล่าวถึงประโยชน์ในการรณรงค์สุขอนามัยส่วนบุคคล ให้สวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์โรคระบาดอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม อาทิ โรคมือ-เท้า-ปากเปื่อย ในเด็ก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสก ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังต้องติดตามดูแลเด็กที่ต้องไปโรงเรียนด้วย

2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,970,706 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 179,437 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 523,171 ราย วันนี้เพิ่มขึ้น 5,150 ราย โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมเป็นอันดับที่ 1 ของโลก มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 57,236 ราย รองมาคือบราซิล รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ ปัจจุบันไทยอยู่อันดับที่ 96 ของโลก สำหรับประเทศในเอเชียที่ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ขณะที่โตเกียวพบการระบาดโควิดรอบสอง โดยเป็นครั้งแรกที่กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่า 100 ราย นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง สังเกต มาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ สังคม การติดต่อเดินทางระหว่างกัน ซึ่งจะต้องดูแลเป็นพิเศษ

3. การดำเนินการตามมาตรการ

แผนการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศวันนี้ จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากไคโร 250 คน ใน วันพรุ่งนี้จะมีผู้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา 81 คน เยอรมนี 236 คน เวียดนาม 5 คน และเกาหลีใต้ 150 คน 5 กรกฎาคม มี 4 เที่ยวบินจากฟิลิปปินส์ ภูฏาน กาตาร์ และแคเมอรูน/เอธิโอเปีย 6 กรกฎาคม มี 2 เที่ยวบินจากเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ 7 กรกฎาคม มี 3 เที่ยวบินจากจีน 2 เที่ยวบินและญี่ปุ่น 8 กรกฎาคม มี 3 เที่ยวบินจากจีน ฮ่องกงและอียิปต์ 9 กรกฎาคม มี 2 เที่ยวบินจากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา และ 10 กรกฎาคม มี 3 เที่ยวบินจากซูดาน/อียิปต์ อินเดียและเกาหลีใต้ ผู้เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกจากมาเลเซีย 113 คน เมียนมา 4 คน สปป.ลาว 71 คนและกัมพูชา 42 คนรวม 230 คน

ผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันตัวในที่กักกันของรัฐจัดให้ (State Quarantine และ Local Quarantine) ตั้งแต่ 3 เมษายน – 2 กรกฎาคม มีจำนวน 51,464 ราย พบผู้ติดเชื้อจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 243 ราย รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 187 ราย

รายงานข้อมูลสรุปการใช้งาน www.ไทยชนะ.com ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีผู้ใช้งาน 33,275,657 คน ร้านค้าลงทะเบียน 259,260 ร้าน โดยสัดส่วนการเช็คอิน/เช็คเอาท์ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะอยู่ที่ร้อยละ 54.2 ผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะร้อยละ 84.9 และจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไทยชนะ 571,990 คน รายงานการตรวจกิจการ/กิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายด้านการดำเนินชีวิต วันที่ 2 ก.ค. 63 ได้ทำการตรวจทั้งหมด 5,823 แห่ง พบกิจการ/กิจกรรมที่ปฏิบัติตามมาตรการไม่ครบ 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.15 และไม่มี “ไทยชนะ” 169 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3

โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงร่างข้อปฏิบัติ Medical and Wellness Program หรือการนำผู้ป่วยต่างประเทศ มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศไทย ในระยะที่ 1 เริ่มเข้ามาได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม หากเป็นไปได้ด้วยดี ระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ส่วนการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ (Travel Bubble) ยังเป็นกรณีพิเศษเฉพาะในกลุ่มที่สามารถจัดการได้ หรือ Special Arrestment

สำหรับผู้ที่เข้ามารักษา ในรูปแบบ Medical and Wellness Program นี้ ทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญา ต้องถูกกักตัวเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อออกไปแพร่กระจายในประเทศ ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่สมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว 57 แห่งที่เป็นทางการ ล่าสุดเพิ่มเป็น 62 แห่ง ต้องเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น และต้องมีใบอนุญาต Certificate of Entry (COE) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต ขณะนี้ผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,700 คน จาก 17 ประเทศ ทั้งนี้ สาธารณสุขจะตรวจสอบทั้งจำนวนเตียง บุคลากร เพื่อไม่เกิดการแย่งใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกัน โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการ Medical and Wellness Program ยังไม่อนุญาตชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในขณะนี้ โฆษก ศบค. กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ต้องช่วยคิดช่วยมองกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลา เหมาะกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับคนไทยทุกคน ขอให้มั่นใจว่ามีการดูแลเรื่องปากท้องและสุขภาพไปด้วยกันได้

***********************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ