โฆษก ศบค. ขอบคุณประชาชน กรุงเทพฯ และระยองที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการรัฐบาล และขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2020 15:05 —สำนักโฆษก

โฆษก ศบค. ขอบคุณประชาชน กรุงเทพฯ และระยองที่ให้ความร่วมมือกับมาตรการรัฐบาล และขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2563) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย และการล้างมือบ่อยๆ ยังเป็นอุปกรณ์ และกิจวัตรสำคัญ ที่พิสูจน์แล้วว่าจะปกป้องทุกคนได้ ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน

ประเด็นที่น่าสนใจ กรณี กรุงเทพฯ และระยอง จากการตรวจหาผู้ติดเชื้อ พบว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อลำดับถัดมา ในฐานะโฆษกขอให้ความมั่นใจ โดยจากการตรวจสอบสารคัดหลั่งที่ จ. ระยอง วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 มีการตรวจสอบทั้งสิ้น 486 คน วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 มีการตรวจสอบทั้งสิ้น 279 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ และใน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม ไม่มีผู้มาขอตรวจสอบเพิ่มเติม รวมทั้งหมดการตรวจสารคัดหลั่งตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม – 20 กรกฎาคม 2563 ทั้งสองจังหวัด 7,144 คน พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ และกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงก็ไม่มีการรายงานว่ามีอาการ

เมื่อเช้าจากการประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้มีการทำ AAR: After Action Review หลังจากที่ 234 โรงเรียน ที่กลับมาเปิดทำการ พบว่าการตัดสินใจดำเนินมาตรการที่แตกต่างกันไปตามแต่การรับรู้ รับผิดชอบในส่วนของสถานศึกษาแต่ละพื้นที่ ข้อสรุป พบว่า การตัดสินใจเปิด-ปิด สถานที่ไหนก็ตาม พื้นที่สัมผัสเชื้อที่ระยองคาดว่ามีเพียง 2 สถานที่ ดังนั้น การปิดสถานที่ทั้งหมดเรียนรู้แล้วพบว่าไม่ควรทำ ทั้งนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า Target Lockdown คือ แทนที่จะ Lockdown ทั้งเมืองอาจจะปิดแค่เพียงบางแห่ง จากการเรียนรู้ดังกล่าวพบว่า มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขา มีองค์ประกอบของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด ต่อไปภายในจังหวัดสามารถจะมีการประชุมศึกษากันก่อนออกมาตรการ จึงเป็นการกระจายอำนาจให้จังหวัด ดังนั้น แทนที่จะเป็นเพียงหัวหน้าสถานศึกษาประกาศปิด อาจจะขอปรึกษาไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดย ศบค. ชุดเล็กเมื่อเช้า จึงได้คุยกันเพื่อให้ กระทรวงสาธารณสุขทำ Guideline ข้อเสนอแนะ ข้อควรปฏิบัติก่อนออกคำสั่ง ถือเป็นการเรียนรู้จากระยอง ซึ่งอาจมีกรณีแบบที่ระยองเกิดขึ้นที่อื่นอีก จึงควรเรียนรู้ร่วมกัน และที่ กทม. คอนโดที่เกิดเรื่อง ก็ไม่ได้ปิดยังเปิดให้เข้าออก แต่มีมาตรการในการควบคุมอย่างไร ให้เรียนรู้ไปด้วยกันทั้งประเทศ ทั้งนี้ ขอขอบคุณประชาชนในกรุงเทพฯ และระยองอีกครั้งที่ร่วมเรียนรู้ระบบร่วมกัน

โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เดินทางมาจากญี่ปุ่น 1 ราย อียิปต์ 3 ราย และซูดาน 1 ราย โดยเข้าอยู่ในพื้นที่กักกัน State Quarantine รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,255 ราย สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 318 ราย หายป่วยแล้ว 3,105 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 92 ราย และเน้นย้ำว่า อย่าคาดหวังว่าจะเป็น 0 และเราจะมาเรียนรู้ร่วมกัน เราจะช่วยกันดูแลและจำกัดวงให้ได้

โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย ในพื้นที่กักกัน State Quarantine เดินทางมาจาก3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 26 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ผ่านการคัดกรองพบว่ามีอาการไข้ จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ ครั้งแรกไม่พบเชื้อ แต่เมื่อตรวจหาเชื้อใหม่ในวันที่ 18 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ และพบว่ามีอาการจมูกไม่ได้รับกลิ่น อียิปต์ 3 ราย ทั้งหมดเป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 20 , 25 และ 28 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม และเข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดชลบุรี และตรวจหาเชื้อในวันที่ 19 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ และไม่มีอาการทั้งหมด และซูดาน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 35 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการปวดจากโรคไส้เลื่อน จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ และตรวจหาเชื้อในวันที่ 18 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อในวันเดียวกันสำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลก ในวันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสม 14,852,700 ราย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 613,213 ราย 5 อันดับแรกที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส-19 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย รัสเซีย และ แอฟริกาใต้ โดยประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 102 ของโลก ทั้งนี้ผู้ป่วยในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะอียิปต์ อินโดนีเซีย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้านประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ โฆษก ศบค. กล่าวถึงกรณีลูกเรือชาวอินเดียกว่า 200,000 คน ติดค้างอยู่บนเรือสินค้าและไม่สามารถเข้าฝั่งได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของลูกเรือ

กรณีหน่วยงานด้านสาธารณสุขท้องถิ่นของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เผยว่า พบเด็กเล็ก อายุไม่เกิน 1 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 85 คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเริ่มพบการติดเชื้อในช่วงอายุน้อยที่มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่มักพบในวัยทำงาน ในขณะที่งานวิจัยในยุโรปที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Child & Adolescent Health ระบุว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-18 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิต มีจำนวนน้อยกว่า 1%

กรณีสถานการณ์ในญี่ปุ่น ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ซึ่งจะเห็นว่าล่าสุดญี่ปุ่นมีรายงานผู้ติดเชื้อสะสมรายวันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 (Second wave )กระจายตามแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบการดำเนินงานของญี่ปุ่นในระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 พบว่า ในระลอกที่ 1 ญี่ปุ่นได้ใช้วิธีจำกัดการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ปิดโรงเรียน อยู่บ้านในวันหยุด ซึ่งสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกแรกได้ แต่เมื่อเกิดระลอกที่ 2 ได้ยกระดับเป็นภาวะฉุกเฉิน ใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ จึงทำให้เกิดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้ สถานการณ์ของแต่ละประเทศที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงวิธีการในการจัดการของแต่ละประเทศที่เราต้องศึกษาและนำมาปรับใช้

โฆษก ศบค. เน้นย้ำว่า จากสถานการณ์ในขณะนี้ เราสามารถจำกัดวงของการสอบสวนโรคได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยใช้รูปแบบ “Target lockdown” คือการชี้เป้า และปิดเฉพาะสถานที่เสี่ยงเท่านั้น ดังเช่น กรณีระยองที่จะปิดเฉพาะห้างและโรงแรมที่มีความเสี่ยงเท่านั้น ทั้งนี้ การติดเชื้อกับการระบาด นั้นแตกต่างกัน การใช้วิธี Target lockdown จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งทาง EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีระลอกที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

ด้านแผนการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศวันนี้ มีจำนวนทั้งหมด 513 คน จาก 5 เที่ยวบิน ได้แก่ ไต้หวัน 197 คน ภูฎาน 2 คน ไต้หวัน 200 คน แคนาดา 50 คน และจีน 64 คน โดยแผนการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนทั้งหมด 558 คน จาก 3 เที่ยวบิน ได้แก่ ไต้หวัน 200 คน ญี่ปุ่น 207 คน และสหรัฐอเมริกา 151 คน ในส่วนผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก เดินทางจากมาเลเซีย 53 คน เมียนมา 17 คน สปป.ลาว 14 คน และกัมพูชา 3 คน โดยแผนการนำคนไทยกลับมานี้ จะนำเสนอผ่าน facebook ศูนย์ข้อมูลโควิดด้วย

สำหรับยอดสะสมการใช้งาน www.ไทยชนะ.com ตั้งแต่เริ่มโครงการ มีผู้ใช้งาน 37,853,188 คน ร้านค้าลงทะเบียน 276,650 แห่ง เช็คอิน/เช็คเอ้าท์ผ่านแพลต์ฟอร์มไทยชนะอยู่ที่ร้อยละ 96 ผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ ร้อยละ 4 และยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไทยชนะ 797,434 ครั้ง ซึ่งระบบเหล่านี้สามารถเป็นประโยชน์ให้แก่กรมควบคุมโรคได้อย่างมาก โดยจะมีการทำ After Action Review ของทางกรมฯ เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้วย

ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. เน้นย้ำว่า หากประชาชนมีข้อสงสัย ร้องเรียน หรือแนะนำ สามารถโทรแจ้งได้ที่เบอร์ 191 1599 หรือ 1138 สายด่วน ศปม. ได้ตลอดเวลา ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เศรษฐกิจเดินหน้า ประชาชนค้าขายได้ รัฐบาลควบคุมโรคได้

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ