บอร์ดนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางสร้างความเชื่อมั่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ จัดหาประกันภัยคุ้มครองทุกราย พร้อมเกาะติดสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย จากผลกระทบโควิด-19

ข่าวทั่วไป Thursday January 14, 2021 13:54 —สำนักโฆษก

บอร์ดนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติจัดหาประกันภัยคุ้มครองทุกราย พร้อมเกาะติดสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย จากผลกระทบโควิด-19 มั่นใจมาตรการรัฐ ดูแลครอบคลุม เปิดความคืบหน้าโครงการรับต่างชาติกลุ่ม STV

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (14 ม.ค. 2564) เมื่อเวลา 13.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ความคืบหน้าของมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตลอดจนพิจารณาอนุมัตินโยบายด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ

ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยจะพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาประกันภัยนั้นจะมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว

ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาท ต่อคนต่อการเข้ามาประเทศไทยในแต่ละครั้ง เพื่อสมทบในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างท่องเที่ยวภายในประเทศไทย โดยจะจัดเก็บรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะได้จัดทำรายละเอียดต่อไป

ขั้นตอนหลังจากนี้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดเก็บในรายละเอียด แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติปรับปรุงมาตรฐานการท่องเที่ยวตามที่คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยว ภายใต้คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอ เพื่อให้มาตรฐานการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงปรับปรุงระยะเวลาการรับรองมาตรฐานให้เหมาะสมเนื่องจากบางมาตรฐานให้ระยะเวลาสั้นเกินไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรฐานการท่องเที่ยวทั้งหมด 56 มาตรฐานสำหรับที่จะมีการปรับปรุงมีทั้งหมด 5 มาตรฐาน ประกอบด้วย 1. มาตรฐานด้านที่พักเพื่อการท่องเที่ยว ประเภทโรงแรม 2.มาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว 3. มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการเที่ยว 4. มาตรฐานบริการอาหารเพื่อการท่องเที่ยว และ 5. มาตรฐานสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวประเภทสินค้าอัญมณี

สำหรับการปรับปรุงด้านระยะเวลาการรับรองนั้น จากทั้งหมด 56 มาตรฐาน จะมีการปรับปรุงระยะเวลารับรองมาตรฐานให้เหลือ 2 กลุ่มคือ กลุ่มรับรองให้ 3 ปี และ 1 ปี จากเดิมที่มี 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่รับปรุงให้ 1, 2 และ 3 ปี ซึ่งภายหลังปรับปรุงนั้นจะทำให้กลุ่มที่ได้รับการรับรอง 3 ปี มีทั้งหมด 54 มาตรฐาน และได้รับการรับรอง 1 ปีมี 2 มาตรฐาน

รวมถึงได้เห็นชอบ แผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 65 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปรับตัวเข้ากับการท่องเที่ยววิถีใหม่

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของวาระเพื่อทราบอื่น ๆ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลกซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19โดยนักท่องเที่ยวทั่วโลก (ม.ค. - ต.ค.63) ลดลง 900 ล้านคน หรือลดลง 72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลง 33.21 ล้านคน หรือ ลดลง 83.22% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่เที่ยวในประเทศ ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 90.32 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 82.42 ล้านคน-ครั้ง หรือลดลง 47.71%

การลดลงดังกล่าวส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผลบังคับแล้วหลายมาตรการทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการด้านภาษี เช่น การลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ ส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน มาตรการลดภาระทางการเงิน เช่น การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การให้สิทธิประโยชน์จากการว่างงาน การขยายเวลาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟแก่ผู้ประกอบการโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดจนมาตรการด้านการเงินที่ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง และขณะนี้มาตรการเพิ่มเติมต่าง ๆ ก็ได้ทยอยเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2563 ซึ่งตามโครงการมีขั้นตอนการยื่นเอกสาร การตรวจคัดกรอง การกักตัวที่เข้มงวดก่อนอนุญาตให้ท่องเที่ยวในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท STV เข้ามายังประเทศไทยผ่านการดำเนินการของบริษัท ลองสเตย์ จำกัด แล้ว 1,114 คน เฉพาะเดือน ม.ค. 2564 มีนักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทย 123 คน

?ที่ประชุมได้รับรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนภายใต้มาตรการรับท่องเที่ยวกลุ่ม STV เพื่อให้การท่องเที่ยวยังเดินหน้าไปได้ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยทราบว่าปัจจุบันมีทั้งโรงแรมและโรงพยาบาลใน 10 จังหวัด ที่สามารถเป็น ASQ และ ALQ ตามโครงการได้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดแพลตฟอร์ม ASQ Paradise ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจอง ASQ การช้อปปิ้งออนไลน์ การให้ข้อมูลก่อนเดินทางและกิจกรรมระหว่างกักตัวของผู้ร่วมโครงการ ซึ่งระบบที่พัฒนาขึ้นจะรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยได้มากขึ้นและปลอดภัย? น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ