นายกรัฐมนตรีย้ำการผลิตวัคซีนภายในประเทศไทย ดำเนินการโดยสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นไปตามแผนและได้ผลดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Saturday April 10, 2021 14:12 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีย้ำการผลิตวัคซีนภายในประเทศไทย ดำเนินการโดยสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นไปตามแผนและได้ผลดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพ

วันนี้ (10 เมษายน 2564) เวลา 07.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดคุยถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและความคืบหน้าวัคซีนโควิด - 19 ผ่าน PM PODCAST สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม ประกอบด้วย 9 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก ราชบุรี กลุ่มที่ 2 พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่สีเหลือง ประกอบด้วย 14 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส และกลุ่มที่ 3 พื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่สีเขียว อีก 54 จังหวัด สำหรับการระบาดรอบนี้ ส่วนใหญ่มาจากสถานบริการ ในรูปแบบ ?เลาจน์? ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน มีปัจจัยเสี่ยง คือการรวมตัวของคนจำนวนมาก อากาศไม่ถ่ายเท ขาดมาตรการป้องกันส่วนบุคคล และมีระยะเวลาในการสัมผัสนานกว่าปกติ จึงได้มีมาตรการปิดสถานประกอบการประเภทสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่พบการแพร่ระบาด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และถ้ามีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัดหรือ กรุงเทพมหานครอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดได้ โดยใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนก่อนใช้ โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือทะเบียนและรับผิดชอบการจำหน่ายในประเทศ บางบริษัทที่มีผู้แทนในประเทศไทยจะดำเนินการโดยบริษัทนั้น เช่น ไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซเนกา สำหรับผู้ผลิตอื่นที่ไม่มีบริษัทลูกหรือตัวแทนในประเทศไทย ผู้ผลิตรายนั้นต้องตั้งผู้แทนและให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน จากการหารือกรณีกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องสิทธิให้ซื้อวัคซีน ได้ข้อสรุปโดยการแบ่งวัคซีนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) วัคซีนที่รัฐจัดหา 2) วัคซีนทางเลือก ที่ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนขึ้นมาร่วมพูดคุยหาแนวทางจัดหาวัคซีนทางเลือกอีกประมาณ 10 ล้านโดสหรือมากกว่า เพิ่มเติมจากวัคซีนที่รัฐจัดหา โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน ถ้าได้ตรงนี้มาเพิ่มก็จะครอบคลุมประชากรประมาณ 40 ล้านคน หรือราวร้อยละ 60 ? 70 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นตามหลักวิชาการทางการแพทย์ในการป้องกันโรค

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ แบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เน้นให้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมากให้กระจายไปยังโรงพยาบาลสนาม โดยรูปแบบของโรงพยาบาลสนามจะมีทั้งพื้นที่ที่กำหนดขึ้นใหม่แต่อยู่ในเขตโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลบางขุนเทียน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หรือจะเป็นพื้นที่สนามกีฬาก็มีด้วย อีกส่วนก็คือพื้นที่ของโรงแรมที่ใช้กักตัวกลุ่มเสี่ยง จะนำมาปรับใช้ประโยชน์เป็นโรงพยาบาลสนามได้ ทั้งนี้ได้กำชับสาธารณสุขในการปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการรับผู้ป่วยโควิดและการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนภายในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยสยามไบโอไซเอนซ์ว่า ได้ผลเป็นที่พอใจ ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยผลิตวัคซีนตั้งแต่ระดับต้นน้ำ และอยู่ระหว่างการส่งตรวจคุณภาพวัคซีน ณ ห้องปฏิบัติการอ้างอิงในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะรู้ผลในเร็ว ๆ นี้ สำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ขณะนี้เราเตรียมเปิด LINE official Account ชื่อว่า ?หมอพร้อม? โดยจะเปิดให้เข้าไปลงทะเบียนภายในเดือนพฤษภาคม โดยจะใช้อย่างครอบคลุมในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงที่วัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามาพอดี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทราบถึงสิทธิการจองวัคซีน การนัดหมาย การติดตามอาการหลังการฉีด การนัดหมายฉีดครั้งที่ 2 และยังสามารถออกใบรับรองการรับวัคซีนในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้อ้างอิงต่อไปได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่ารัฐบาลจะทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหานี้ และขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อฝ่าฟันวิกฤตไปด้วยกัน

???????????????

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ