นายกฯ ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร อ.ห้วยกระเจา กาญจนบุรี ยินดีกับชาวกาญจน์ที่มีแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday August 4, 2022 13:33 —สำนักโฆษก

นายกฯ ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร อ.ห้วยกระเจา กาญจนบุรี ยินดีกับชาวกาญจน์ที่มีแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ ขอทุกภาคส่วนต่อยอดโครงการ กระจายน้ำอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ให้ประชาชนได้รับประโยชน์

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและมีภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เขตเงาฝน ไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน รวมทั้งการขาดแคลนระบบชลประทาน ในการนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หลังสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อก่อสร้างระบบกระจายน้ำโดยวางท่อเมนเหล็กเพื่อส่งต่อน้ำบาดาลไปยังพื้นที่ ระยะทาง 11,835 กิโลเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภค และสามารถทำเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2564 ซึ่งโครงการสร้างระบบกระจายน้ำดังกล่าว ได้รับการอนุมัติแล้ว

ภายหลังการตรวจเยี่ยมโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบความสำเร็จในการหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งพื้นที่ห้วยกระเจา เป็น 2 ใน 15 โครงการดังกล่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการ ได้แก่ 1. การสำรวจพื้นที่ขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งมีการค้นพบพื้นที่ที่เหมาะสม จำนวน 3 จุด จากทั้งหมด 15 จุดทั่วประเทศ ซึ่งปริมาณน้ำใต้ดินมีเพียงพอ เลี้ยงพื้นที่เขตแห้งแล้งทั้งหมดได้ ถ้ามีการบริหารจัดการระบบน้ำได้เพียงพอ และเหมาะสม 2. การสร้างสถานีสูบน้ำโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ 1 แห่ง และที่ตำบลห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาได้ประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเพิ่มเติมรายปี 4.68 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ 1.75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นายกรัฐมนตรีย้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อเดินหน้าประเทศไทย พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความยากจน ปัญหาแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน รวมถึงถนนเส้นทางต่าง ๆ มีหลาย ๆ เรื่องที่ทำแล้วประสบความสำเร็จและยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป้าหมายของรัฐบาลคือให้ประชาชนมีความสุขและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนเรื่องการทำการเกษตร นายกรัฐมนตรีระบุว่าไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ ที่ผ่านมาตนเองได้เคยทำมาแล้ว เข้าใจถึงความยากลำบาก ขอให้เกษตรกรติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเรื่องการเพาะปลูก และช่องทางการจำหน่าย ขอให้พัฒนาสินค้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เพิ่มมูลค่าให้สินค้า

นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือทุกภาคส่วนต่อยอดโครงการเพื่อกระจายน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ตลอดจนการสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลหรือผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด และนำไปสู่การกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการน้ำบาดาลที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันต่อไป พร้อมกับเน้นย้ำให้ข้าราชการทำงานเชิงรุก เดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน อย่าปล่อยให้เกียร์ว่าง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ