นายกฯ เปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีฯ Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) มุ่งพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมระบบดิจิทัล-เทคโนโลยีสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2022 14:56 —สำนักโฆษก

นายกฯ เปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีฯ Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) มุ่งพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมระบบดิจิทัล-เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (21 ธันวาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ หอประชุมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย คณะครู นักเรียนโรงเรียน Super Science High School และสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนรับเชิญในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีชมการแสดงจินตลีลาผสมผสานกับหุ่นยนต์ ชุด ?Season of Color? โดยนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และชมวีดิทัศน์ Thailand-Japan Student ICT Fair (TJ-SIF 2022) พร้อมรับฟังการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยตัวแทนนักเรียนญี่ปุ่น และนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

จากนั้น Mr. OBA Yuichi รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวแสดงความยินดีในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าโรงเรียนฯ ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมของญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ความร่วมมือเหล่านี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนงานวิจัยและนักศึกษา ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันและเพิ่มความร่วมมือระหว่างสองประเทศ รวมทั้ง ยังหมายถึงการเสริมสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและความผูกพันระหว่างสองประเทศ โดยปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่น-ไทย ความสัมพันธ์ที่ยาวนานหลายศตวรรษนี้ ต้องการการดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง และโครงการนี้ช่วยพัฒนาถึงในระดับบุคคล โดยความร่วมมือของเราเป็นไปอย่างแข็งแกร่งและลึกซึ้งครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง ธุรกิจ วัฒนธรรม กีฬา ไปจนถึงอาหาร ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยได้รับการยกระดับ การแลกเปลี่ยนที่เพิ่มพูนนี้ทำให้ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์แบบ ?หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม? รวมไปถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้น เห็นได้ชัดจากการประชุมเอเปค 2022 โดยเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลจากบทบาทผู้นำที่แข็งแกร่งของนายกรัฐมนตรี และได้กล่าวถึงบริษัทเอกชนญี่ปุ่นประมาณ 6,000 แห่ง ที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในธุรกิจในประเทศไทย และยังคงเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เชื่อมั่นว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยว และได้อวยพรให้การจัดโครงการฯ นี้ บรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งอวยพรให้ความร่วมมือโครงการฯ แน่นแฟ้นมากขึ้น มีส่วนยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอีกด้วย

ต่อจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand - Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) ว่า การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับกลุ่มโรงเรียนโครงการ Super Science High School และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สถานเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (NEXT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2554 เป็นต้นมา กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยความสำเร็จในด้านความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 ประเทศ มีนักเรียนไทย และนักเรียนญี่ปุ่นได้แสดงศักยภาพในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลากหลายโครงงานจำนวนมาก อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และต่อประชาคมโลก สำหรับการจัดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการเรียนรู้ของครู และการแข่งขัน Programming Hackathon โดยจัดงานรูปแบบไฮบริดจ์ ณ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย และผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้การเป็นที่ปรึกษาการจัดงานของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานผลการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามมติคณะรัฐมนตรีว่า การดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงเป็นการเตรียมกำลังคนระดับสูงทางด้าน STEM เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 ในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) และโครงการอื่น ๆ ของประเทศ จากผลการดำเนินงานและความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลที่เล็งเห็นคุณค่า ความสำคัญทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบโล่ให้กับผู้สนับสนุน และนักเรียน 9 ราย พร้อมกล่าวเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีฯ โดยแสดงความดีใจและยินดีที่ได้มาเปิดงานครั้งนี้ ซึ่งเห็นถึงความก้าวหน้าของบุคลากรทางด้านการศึกษาทุกฝ่าย รวมถึงความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และมีการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างต่อเนื่องตลอดไป พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีย้ำถึงการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นในครั้งนี้ว่า เป็นเวทีที่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอ แลกเปลี่ยนผลงานวิชาการ และสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมด้าน ICT ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาและศักยภาพของครูและนักเรียนทั้งสองประเทศอย่างดียิ่ง โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนดังกล่าว ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายกรัฐมนตรีชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้สนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาชั้นนำและหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น จนเกิดความร่วมมือทางวิชาการที่แน่นแฟ้น และก่อให้เกิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทั้งสองประเทศ ได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการทั้งการแสดงศักยภาพในด้านการสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยระหว่างครูและนักเรียนที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยและญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญทุกคนต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตโดยให้เริ่มจากตนเองก่อน พร้อมกล่าวขอบคุณประเทศญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับไทยมาอย่างยาวนาน และจะมีความสัมพันธ์และความร่วมมือต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งเน้นย้ำให้เด็กเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มุ่งการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การประกอบการธุรกิจและการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายเรียนรู้ตลอดชีวิตตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากธรรมชาติ สู่การเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ให้ทันกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวขอให้มีการขยายไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดกิจกรรมอันทรงคุณค่า ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป พร้อมอวยพรให้การจัดงานประสบผลสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และจะติดตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดงานฯ โดยการกดปุ่มใบพัดโฮโลแกรมตราสัญลักษณ์และร่วมถ่ายภาพกับรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น ผู้แทนนักเรียนไทย และผู้แทนนักเรียนญี่ปุ่น ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีระบบบำบัดน้ำเสียอัจฉริยะของนักเรียน ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนระดับชั้น ม. 5 และเยี่ยมนิทรรศการ PCSHS CR Smart School ณ บริเวณหน้าหอประชุม รวมทั้งชมวีดิทัศน์การแข่งขัน Thailand - Japan Game Programming Hackathon (TJ-GPH 2022) และเยี่ยมชมการพัฒนาเกมส์ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น พร้อมกล่าวทักทายและให้กำลังใจนักเรียน เสร็จแล้วนายกรัฐมนตรีและคณะนั่งรถรางไปยังศูนย์กีฬา เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการโครงงานแบบโปสเตอร์ของนักเรียนไทย และนักเรียนญี่ปุ่น รวมถึงผลงานและนวัตกรรมด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ การใช้โปรแกรมโดรนในรูปแบบต่าง ๆ โครงการเสาไฟอัจฉริยะ นวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบเกมส์ และกลุ่มสตาร์ทอัพ เป็นต้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ