นายกฯ เป็นประธานประชุมสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ ประจำปี 2567 ยืนยันรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่พัฒนาความมั่นคง พร้อมสนับสนุนกองทัพอากาศ ดูแลสวัสดิการทหารอากาศให้เหมาะสม

ข่าวทั่วไป Thursday February 29, 2024 14:10 —สำนักโฆษก

นายกฯ เป็นประธานประชุมสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ ประจำปี 2567 ยืนยันรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่พัฒนาความมั่นคง พร้อมสนับสนุนกองทัพอากาศ ดูแลสวัสดิการทหารอากาศให้เหมาะสม

วันนี้ (29 ก.พ. 67) เวลา 15.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ ประจำปี 2567 (RTAF SYMPOSIUM 2024) โดยมี พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอก เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนจากหน่วยงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศชั้นนำ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานด้านงานวิจัยระดับชาติ ข้าราชการทหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานพิธีส่งมอบ M Solar-x : เทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์สมรรถนะสูงเพดานบินต่ำ เพื่อแสดงความพร้อมเข้าสู่สายการผลิต พร้อมกล่าวภายหลังรับฟังแผนพัฒนากองทัพอากาศว่า จากการที่ได้รับฟังการนำเสนอของกองทัพอากาศ ถ้าพี่น้องคนไทยทุกคนได้ยินกองทัพอากาศประกาศแผนงานภารกิจของกองทัพอากาศ ที่ได้ทุ่มเททั้งกายและใจ คงมีความภาคภูมิใจมากขึ้น ซึ่งตนอยากจะสะท้อนความตั้งใจของตนว่า รัฐบาลยืนยันจะพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับพัฒนาความมั่นคงของกองทัพอากาศและทุก ๆ กองทัพ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจมีเรื่องของงบประมาณรายได้แผ่นดินที่เกิดขึ้นจะต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาของกองทัพ โดยธีมของกองทัพอากาศ Unbeatable Air Force เป็นธีมที่ใช้ได้ มีความเหมาะสม มีความทะเยอทะยานควบคู่กับภารกิจที่มีการ present ในแง่ความมั่นคง การต่อสู้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีข้อมูลครบและเข้าใจทุก ๆ บริบทของการมีความทะเยอทะยาน พัฒนากองทัพไทยให้ไปถึงขีดที่ควรจะเป็น เพื่อปกป้องอาณาจักรของประเทศไทยให้สมเกียรติ ซึ่งมีหลายประเด็นที่กองทัพได้ดำเนินการมาอย่างดี

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลต้องพึ่งพากองทัพอากาศ โดยการลำเลียงคนไทยกลับมาจากดินแดนที่มีความขัดแย้งของกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ที่มีคนไทยเดินทางกลับประเทศไทยประมาณ 8,000 - 9,000 คน กลับมาสู่มาตุภูมิหรืออ้อมกอดของครอบครัว หากไม่ได้กองทัพอากาศให้ความช่วยเหลือ ไม่แน่ใจว่าคนไทยจะกลับมาหมดหรือไม่ ซึ่งขณะที่ทั่วโลกมีความขัดแย้งสูง มีความไม่แน่นอน มีการจับขั้วกัน มีความขัดแย้ง การทะเลาะกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศเพื่อให้ถึงขีดความสามารถที่ควรจะเป็น ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ไม่มีความมั่นคงทางด้านการทหาร

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารอากาศเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการของทหารอากาศเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนเรื่องบ้านพักข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องมีการพัฒนาเขียนแบบแผนให้ชัดเจนว่าต้องมีการสร้างเพิ่ม หรือสร้างทดแทนที่อยู่อาศัย ส่วนสวัสดิการทหารต้องดูแลให้เหมาะสม ให้ถูกต้องเหมือนกับกองทัพอื่น เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลภูมิพล มีประชาชนเข้ารักษาปีละหลายแสนคน ซึ่งประชาชนส่วนมากที่เข้ารับการรักษา เป็นข้าราชการทหารอากาศ ร้อยละ 10 - 15 โดยโซนเหนือของกรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่เรื่องบุคลากรทางด้านการแพทย์ พยาบาล บุรุษพยาบาล นักกายภาพ ตนเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าเราขาดแคลน โรงพยาบาลต่างจังหวัดขาดแคลนบุคลากรส่วนนี้มาก ควรมีการพัฒนาเสริมเพิ่มจำนวนบุคลากรเหล่านี้ ดังนั้น การพัฒนากองทัพก็ไม่ใช่ทำแต่เรื่องความมั่นคงอย่างเดียว การดูแลประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงในส่วนการเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ การลดจำนวนข้าราชการทหาร เชื่อว่าทุกคนเข้าใจว่า ความตั้งใจของรัฐบาลนี้ไม่ได้ลดความมั่นคงไปด้วย แต่ลดไปตามเหตุการณ์ที่ควรจะเป็น ซึ่งมีบางเหตุการณ์ที่จะต้องเพิ่มกำลังทหาร ยกตัวอย่าง หากมีอาวุธใหม่ ๆ เข้ามา เช่น เรื่องโดรน เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่มี เราก็ต้องมีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้กองทัพอากาศมีความทะเยอทะยานในการปกป้องอาณาเขตของประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ การจัดงาน RTAF SYMPOSIUM 2024 ภายใต้แนวคิด ?Roadmap to Unbeatable Air Force? เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้เกิดการบูรณาการและพัฒนาร่วมกัน โดยมุ่งพัฒนา 3 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติทางอากาศ มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ อาทิ อากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ M-Solar X Unmanned Aerial Vehicle ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในภารกิจป้องกันประเทศและช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวคิด ?Roadmap to Unbeatable Air Force? ประกอบด้วยรูปแบบการดำเนินการจัดทำแผนงาน หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีทางทหาร มีความเชื่อถือได้ และต้องรับเงื่อนไขนโยบายชดเชยการนำเข้ายุทโธปกรณ์ (Defense Offset Policy) รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนควรให้สิทธิหรือลิขสิทธิ์ต่อกองทัพอากาศและหรือบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการพัฒนาต่อยอดยุทโธปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทัพอากาศ รูปแบบที่ 2 คือ โครงการพัฒนาหรือจัดหายุทโธปกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามศักยภาพและขีดความสามารถภายใต้มาตรฐานทางทหาร เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมทั้ง เป็นการสร้างงานภายในประเทศและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รูปแบบที่ 3 คือ โครงการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ หรือการผลิตยุทโธปกรณ์โดยกองทัพอากาศ หรือการจ้างบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศผลิตผลงานวิจัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางทหารแล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับกองทัพอากาศและประเทศ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ