กรมชลฯ เผยสถานการณ์น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ-นครศรีฯ-พัทลุง เริ่มคลี่คลายแล้ว

ข่าวทั่วไป Friday November 5, 2010 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 21 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ลานสกา สิชล ชะอวด หัวไทร ขนอม พิปูน นบพิตำ จุฬาภรณ์ อำเภอปากพนัง พรหมคีรี ทุ่งสง ท่าศาลา ถ้ำพรรณรา ช้างกลาง ร่อนพิบูลย์ พระพรหม ฉวาง บางขัน นาบอน และอำเภอทุ่งใหญ่ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.50 — 0.80 เมตร

กรมชลประทาน ได้ส่งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 3 เครื่อง เร่งระบายน้ำในเขตอ.ทุ่งใหญ่ บริเวณหน้าประตูโครงการทุ่งเมืองชัย ระบายน้ำลงคลองสินปุน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตาปี น้ำที่เอ่อล้นตลิ่งลดลงเริ่มเข้าสู่ปกติ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

สำหรับในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนในพื้นที่รอบนอกมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 18 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พนม เคียนซา พุนพิน วิภาวดี เวียงสระ พระแสง ท่าฉาง ดอนสัก คีรีรัฐนิคม กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา บ้านนาเดิม เกาะสมุย บ้านนาสาร บ้านตาขุน และเกาะพะงัน โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีในเขตอ.พระแสง เคียนซา คีรีรัฐนิคม พุนพิน และอ.เมืองสุราษฎร์ฯ ระดับน้ำยังสูงขึ้น

ส่วนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่งตะวันออก ในเขตอ.ไชยา ท่าชนะ และท่าฉาง ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำและล้นตลิ่ง สูงประมาณ 0.50 — 1.00 เมตร สำหรับในเขตอ.เกาะสมุย ฝนที่ตกหนักทำให้น้ำท่วมทั้งอำเภอ

กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่อง เร่งสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่เกาะสมุยตั้งแต่วานนี้(4 พ.ย.) สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้วในหลายพื้นที่ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

ในส่วนของจังหวัดพัทลุง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าพะยอม คลองท่าแนะ คลองนาท่อม และคลองสะพานหยี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ส่วนลุ่มน้ำท่าเชียดและคลองป่าบอน ระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ