นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ว่า การทุจริตเกิดขึ้นทุกที่ และมีเปอร์เซ็นต์ของประชาชนจำนวนมากกล่าวว่าเป็นเรื่องยอมรับได้หากนักการเมืองจะทุจริตหากสามารถนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาได้ ขณะที่สาธารณชนต่างก็เห็นพ้องกันว่า การทุจริตเป็นตัวทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความยากจนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วการทุจริตอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่พลเมืองของประเทศจะต้องตระหนักว่าไม่มีการทุจริตที่ดี ดังนั้น ความเข้าใจผิดดังกล่าวต้องรีบแก้ไข แนวทางที่จะไปสู่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง คือ ต้องหยุดเลี่ยงปัญหา เปิดกว้างให้มีการโต้แย้งและถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา
"คนเชื่อว่านักการเมืองสามารถทุจริตได้ถ้านำความเจริญทางเศรษฐกิจมาให้ วิธีการแก้ปัญหาก็คือต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและหารือร่วมกันที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ การต่อต้านการทุจริตถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจเราคงต้องเผชิญกับปัญหาหนักในระยะเวลาข้างหน้า"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทุจริตเป็นสิ่งที่ประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ ต้องเผชิญหน้า ถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องต่อสู้ ซึ่งผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์ต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นหลังจากที่ประสบกับวิกฤตการเงินและความท้าทายต่างๆ ของโลกประชาคมโลกหวังที่จะได้รับผลลัพธ์อย่างชัดเจนมากกว่าคำสัญญาที่ว่างเปล่า
"การมารวมตัวในวันนี้เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการที่จะส่งสารไปให้ทั่วโลกรับรู้ว่า ได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการทุจริต" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ย้ำให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตและนำเข้าสู่วาระของประชาชนและเยาวชน ซึ่งกดารต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นนั้นไม่สามารถเอาชนะด้วยการออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะหากผู้คนจำนวนมากยังคงชินชาและไม่แยแสต่อการคอรัปชั่น การต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นยังคงอีกยาวไกล เช่นเดียวกับที่มีการกล่าวไว้ว่า “การที่พวกเรากันเองไม่ใส่ใจกับการทุจริตคอรัปชั่นนั้น ก็เสมือนว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดเช่นกัน"
ความสำคัญของความร่วมมือในระดับนานาชาติและการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาต่อต้านการคอรัปชั่น การปราบปรามคอรัปชั่นนั้นเป็นงานที่หนักและบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่สามารถที่จะอ้างความสำเร็จได้โดยลำพัง สังคมจะต้องร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะผู้คนในสังคมเองจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และพลเมืองของสังคมจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นการรับรู้เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นและผลร้ายของมันประชาชนในสังคม และสื่อมวลชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมการไม่อดทนต่อการทุจริตคอรัปชั่น
การตระหนักถึงบทบาทของประชาสังคมไม่ได้หมายความว่าผู้มีตำแหน่งระดับสูงในภาครัฐ จะสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ เจตนารมณ์ทางการเมืองและความเป็นผู้นำคือหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในระดับชาติ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จะต้องเป็นผู้นำตัวอย่างที่ดี
สำหรับบทบาทของภาคเอกชนนั้น ในโลกธุรกิจที่ขาดความเชื่อโยง แรงจูงใจสำหรับบริษัทส่วนตัวที่จะรับจุดยืนการไม่ทุจริตยังมีน้อยมาก เพราะบริษัทเหล่านี้ พบว่ามีความท้าทายอย่างมากที่จะดำรงธุรกิจโดยยึดหลักการนี้ ท่ามกลางประเทศหรืออุตสาหกรรมที่การรับสินบนมีความแพร่หลาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวอย่างที่ชัดเจนจากผู้นำทางธุรกิจที่มีจริยธรรม ยุทธศาสตร์ของ 'การทำงานร่วมเพื่อต่อต้านการทุจริต' กำลังได้รับความสนใจว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนการแข่งขันอย่างยุติธรรม
นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำความสำคัญว่า การร่วมมือระหว่างนานาชาติจะช่วยให้แต่ละประเทศพัฒนาศักยภาพเพื่อต่อต้านการทุจริต ทั้งนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านการทุจริต เป็นตัวแทนของการตอบสนองต่อปัญหานี้ในระดับโลก ความร่วมมือระหว่างนานาชาติในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การทำงานร่วมกันบนหลักกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการสืบสวนร่วมกันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นกำแพงที่กีดขวางการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทยได้ทำงานเพื่อที่จะผลักดันการให้สัตยาบันของอนุสัญญาดังกล่าวให้เป็นจริง แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการลงสัตยาบัน แต่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมก็ได้มีขึ้นแล้ว