ก.เกษตรฯ รายงานแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่

ข่าวทั่วไป Tuesday March 1, 2011 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขออนุมัติหลักการแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพ 60 ล้านไร่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

โดยกำหนดแผนการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น (ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2553-2555) แผนระยะกลาง (ก่อสร้างในปี พ.ศ.2556-2560) และแผนระยะยาว (ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป) โดยแผนระยะสั้นจะเป็นแผนงานที่มีความพร้อม สามารถก่อสร้างได้ทันที ส่วนแผนระยะกลางและระยะยาวจะเป็นแผนงานที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

จากแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานฯ ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 26,603 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 34.04 ล้านไร่ เมื่อรวมกับปริมาณน้ำเก็บกักและพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ 102,973 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำท่าในประเทศ และถ้าสามารถดำเนินการได้ตามแผนจะทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นเป็นทั้งสิ้น 62.4 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานฯ มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ และแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจ และรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้การกำหนดแผนงาน/โครงการ เพื่อการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เต็มศักยภาพมีความซ้ำซ้อนกัน

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการจัดทำแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพ เช่น ความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทัศนคติจากสังคม กฎหมาย/ระเบียบต่าง ๆ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน

ซึ่งแนวทางการแก้ไข สำหรับโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานฯ โดยประสานกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการและกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกรมชลประทานจะได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดก่อนดำเนินงานก่อสร้างทุกโครงการ

ส่วนโครงการขนาดเล็ก กรมชลประทานจะมอบหมายให้โครงการชลประทานในแต่ละจังหวัดดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่บูรณาการในการกำหนดแผนงานให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกรอบการพัฒนาพื้นที่ชลประทานอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ