สถาบันอาหาร ชี้ไทยไม่ได้อานิสงค์อีโคไลส่งออกผักไป EU เพิ่ม แนะระบบตรวจสอบต้องรวดเร็ว-แม่นยำ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2011 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงกรณีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ Escherichia coli (E. coli) O104: H4ว่า ไม่น่าจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายการส่งออกผักสดไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผักที่ทางเยอรมันสงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดนั้นเป็นผักที่นำมารับประทานเป็นสลัด และมิได้เป็นผักกลุ่มที่มีการนำเข้าจากประเทศไทย

ปัจจุบันสินค้าพืชผักสดที่ไทยส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรป ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้สด ข้าวโพดฝักอ่อน กระเจี๊ยบขาว คึ่นฉ่าย ผักในกลุ่มมะเขือ กลุ่มกะหล่ำ ถั่วฝักยาว และพืชผักสวนครัวกลุ่มกะเพรา โหระพา แมงลักและยี่หร่า กลุ่มพริกหยวก พริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนู กลุ่มมะระจีน มะระขี้นก กลุ่มมะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาวและมะเขือขื่น กลุ่มผักชีฝรั่ง และใบผักชี เป็นต้น

อีกทั้งปัจจุบันสหภาพยุโรปยังคงมาตรการการตรวจเข้มผักสวนครัวสดที่นำเข้าจากไทย โดยเฉพาะการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อ อี. โคไล, ซาลโมเนลลา และยาฆ่าแมลงตกค้าง

ล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ Escherichia coli (E. coli) O104: H4 ได้ลุกลามไปสู่ 13 ประเทศทั่วยุโรป ได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และลักเซมเบอร์ก ซึ่งส่งผลให้มีชาวยุโรปติดเชื้อ อี.โคไล O104: H4 และมีอาการเจ็บป่วยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,256 ราย รวมทั้งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 35 ราย (ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2554 ยืนยันโดยหน่วยงาน ECDC)

นางอรวรรณ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความรวดเร็วและแม่นยำในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)หาแหล่งที่ทำให้เกิดการระบาดที่แท้จริงให้ได้เป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งข้อมูลที่สื่อสารไปในสู่สาธารณชนต้องแม่นยำและมีการยืนยันความถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อจำกัดผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในเยอรมันและในสหภาพยุโรป ทั้งยังเพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดต่อเกษตรกรกว่า 1,000 รายและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าพืชผักสดในสหภาพยุโรปไม่ให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ เนื่องจากการระบาดในครั้งนี้ได้กินเวลาไปกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ปัจจุบันเยอรมันยังไม่สามารถสืบหาต้นตอที่ถูกต้องได้ ซึ่งยังคงต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างผักและอาหารที่สงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการระบาดไปตรวจวิเคราะห์และพิสูจน์ เพื่อให้ได้ผลการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าเป็นต้นตอที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการระบาดหรือไม่ เพราะในระหว่างรอผลการยืนยันนั้นอาจต้องมีการทำลายพืชผักและผลไม้ในสหภาพยุโรปอีกเป็นจำนวนมหาศาล ดังเช่นที่ผู้ปลูกแตงกวาในแคว้นแซ็กโซนี่ของเยอรมันต้องทำลายแตงกวาและมะเขือเทศสดกว่า 200 ล้านผลในวันเดียว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจ(trust) จากผู้บริโภคทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของสหภาพยุโรปให้กลับคืนมา

จากเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลเยอรมันและหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย กล่าวคือ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่มีอำนาจของภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง และต้องไม่เร่งรีบมากเกินไปในการแจ้งข้อมูลหรือการสื่อสารข้อมูลแหล่งที่สงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการแพร่ของโรคระบาด และโรคติดเชื้อที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบในวงกว้างออกไปสู่สาธารณชนก่อนที่จะได้รับการยืนยันผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายและปัญหาอย่างมากให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแล้วยังจะสร้างให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและขาดความเชื่อมั่นในการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของรัฐบาลอีกด้วย

ในปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าพืชผักสดเข้าตลาดสหภาพยุโรปเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,925 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าการส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรปประมาณ 877 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ