สธ.เผยแนวโน้มวัยรุ่น 7-17 ปีใช้สารเสพติดมากขึ้น 129 เท่าตัวในรอบ 6 ปี

ข่าวทั่วไป Friday June 24, 2011 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.สาธารณสุข(สธ.) เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วง หลังดำเนินการบำบัดผู้ติดยาไปแล้วกว่า 5 หมื่นคน และพบกลุ่มเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 7-17 ปี ใช้สารเสพติดมากขึ้นถึง 129 เท่าตัวในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยวันนี้ สธ.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากลจำนวน 5,844 กิโลกรัม มูลค่า 7,419 ล้านบาท

"กลุ่มที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือวัยรุ่นอายุ 7-17 ปี พบว่ามีการใช้สารเสพติดมากขึ้น ในปี 2554 มีเข้ารับบำบัด 6,701 คน หรือร้อยละ 12 ของผู้เข้ารับการบำบัด โดยเพิ่มขึ้น 129 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีเพียง 52 คน หรือร้อยละ 0.09 ของผู้รับบำบัดทั้งหมด" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.กล่าว

ทั้งนี้มีรายงานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553-4 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการบำบัด 3 ระบบ รวมทั้งหมด 54,715 คน ได้แก่ ระบบสมัครใจเข้ารับการบำบัดเอง 14,780 คน ระบบบังคับบำบัด 33,898 ราย และบำบัดในระบบต้องโทษ 6,037 ราย

ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเป็นผู้เสพร้อยละ 59 เป็นผู้ติดร้อยละ 38 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 3 เป็นชายร้อยละ 91 ที่เหลือเป็นหญิง ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดอันดับ 1 คือ ยาบ้าร้อยละ 83 ส่วนใหญ่ใช้วิธีเสพโดยการสูดดม กลุ่มอาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้าง ร้อยละ 44 รองลงมาคือว่างงานร้อยละ 23 เป็นเกษตรกร ร้อยละ 11 นักเรียนร้อยละ 10 รับราชการร้อยละ 0.68

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ในกลุ่มของผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูพบว่า 1 ใน 3 เป็นเยาวชน มีอายุระหว่าง 18-24 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มลดลงคืออายุ 25-39 ปี

สำหรับในปี 2553 มีผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู 164,125 ราย เป็นชายร้อยละ 91 หญิงร้อยละ 9 เป็นผู้เสพร้อยละ 62 ผู้ติดร้อยละ 36 และผู้เสพติดรุนแรง ร้อยละ 3 โดยตัวยาที่ผู้เข้ารับการบำบัดมากที่สุดอันดับ 1 คือ ยาบ้าร้อยละ 83 รองลงมา กัญชาร้อยละ 6 สารระเหยร้อยละ 4 ตลอดเกือบ 6 ปี(49-54) มีผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟูไปแล้วรวม 627,562 คน

โดยวันนี้ สธ.ร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทำพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางน้ำหนักรวม 5,844 กิโลกรัม มูลค่า 7,419 ล้านบาท โดยมาจากคลังยาเสพติดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2,426.0464897 กิโลกรัม บวก 130 มิลลิลิตร จาก 3,833 คดี ประกอบด้วย ยาเสพติด 8 ชนิด ได้แก่ 1.เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ประมาณ 22 ล้านเม็ด น้ำหนักกว่า 1,997 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 6,657,569,100 บาท 2.เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 248 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 620,281,150 บาท 3.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 23 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 64,890,512 บาท 4.ยาเอ็กซ์ตาซี หรือ ยาอี ประมาณ 34,171 เม็ด น้ำหนักกว่า 8 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 34,171,000 บาท 5.โคเคนกว่า 7 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 21,363,840 บาท 6.ฝิ่น น้ำหนักกว่า 72 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,823,692 บาท 7.โคเดอีน ปริมาณ 43.168 ลิตร น้ำหนักกว่า 56 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 107,920 บาท และ 8.กัญชาซึ่งมาจากคลังยาเสพติดของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด น้ำหนัก 3,418.7 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 17 ล้านบาท และของกลางที่ไม่ใช่ยาเสพติดอีกจำนวน 12 กิโลกรัมเช่นคีตามีน ซูโดอีเฟดรีน ไดอะซีแพม เฟนเตอมีน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ