เอแบคโพลล์เผยปัญหายาเสพติดวิกฤติ,สูบบุหรี่ต่ำสุด 5 ขวบ-กินเหล้า 4 ขวบ

ข่าวทั่วไป Thursday September 15, 2011 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจพบเด็กและเยาวชนร้อยละ 20.7 สูบบุหรี่ โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี และผู้สูบบุหรี่ครั้งแรกมีอายุต่ำสุดคือ 5 ขวบ ขณะเดียวกันเด็กและเยาวชนร้อยละ 35.0 ดื่มเหล้า โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี และผู้ดื่มเหล้าครั้งแรกอายุต่ำสุด คือ 4 ขวบ โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องแฟนหรือคู่รักมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้ามากกว่า 3 เท่า และหันไปพึ่งยาเสพติดมากกว่า 3 เท่า

ทั้งนี้ เมื่อใช้สถิติวิจัยค่า Odds Ratio มาวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่แล้วพบว่า เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 5 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กและเยาวชนที่ดื่มเหล้ากับไม่ดื่มเหล้าพบว่า เด็กและเยาวชนที่ดื่มเหล้ามีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่าถึง 7 เท่า

"สถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ตัวยาบางตัวไปกระตุ้นพฤติกรรมที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่มีจิตใจที่เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ความเมตตากรุณาจะถูกลบเลือนออกไปจากความรู้สึกของผู้ใช้ยาเสพติด และหากเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ สังคมไทยจะอยู่ต่อไปไม่ได้อย่างปกติสุข มีผลเสียหายร้ายแรงกว่าความขัดแย้งทางการเมืองหลายเท่าตัว" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ระบุ

และเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาชีวิตด้านต่างๆ พบว่า กลุ่มที่มีปัญหาด้านการเรียนมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้าสูงเป็น 2 เท่า และมีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 1 เท่า, กลุ่มที่มีปัญหาด้านการเงินมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้าสูงเป็น 2 เท่า และมีโอกาสเสพยาเสพติดมากกว่า 2 เท่า, กลุ่มที่มีปัญหาครอบครัวมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้ามากกว่า 2 เท่า และหันไปใช้ยาเสพติดมากกว่า 2 เท่า และที่น่าเป็นห่วงสุดคือ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องแฟนหรือคู่รักมีโอกาสสูบบุหรี่/ดื่มเหล้ามากกว่า 3 เท่า และหันไปพึ่งยาเสพติดมากกว่า 3 เท่า

เมื่อ 3 เดือนก่อน ผลวิจัยตามหลักสถิติประมาณการจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาที่ใช้สารเสพติดทั่วประเทศพบว่า มีผู้ใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่จำนวนทั้งสิ้น 1,715,447 คน จำแนกเป็นตัวยาต่างๆ พบว่า เสพกัญชามากที่สุดคือ 894,483 คน โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17 ปี รองลงมาคือ ยาบ้าจำนวน 649,419 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 17 ปี และผู้เสพยาบ้าครั้งแรกมีอายุต่ำสุด 7 ขวบ และอันดับที่สามคือ ยาไอซ์มีจำนวน 563,647 คน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี

เมื่อสอบถามเด็กและเยาวชนถึงความต้องการจากรัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 90.5 ระบุควรเพิ่มพื้นที่ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนไทย รองลงมาร้อยละ 83.6 ควรปฏิรูปเศรษฐกิจ, ร้อยละ 83.3 ระบุควรปฏิรูปสังคม, ร้อยละ 82.6 ระบุควรขจัดพื้นที่เสี่ยงทำลายคุณภาพของเยาวชนไทย เช่น สถานบันเทิง บ่อนพนัน, ร้อยละ 73.0 ระบุควรปฏิรูปการเมือง และรองๆ ลงไปคือ ประชาชนต้องมีอิสระ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากเกินไป ไม่รู้จักให้อภัย ไม่มีน้ำใจต่อกัน นักการเมืองเป็นตัวอย่างไม่ดี ยึดถือประโยชน์ของตนเองเป็นส่วนใหญ่ ต้องการความเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง และผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างไม่ดี ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหากัน

เอแบคโพลล์เสนอทางออก 3 ประการ คือ 1.เพิ่มพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ ปกป้องคุณภาพของเด็กและเยาวชนให้ได้สัมผัสเรียนรู้โครงการต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ โครงการกองทุนแม่ โครงการสัมผัสหลักปรัชญาชีวิตพอเพียง โครงการทูบีนัมเบอร์วัน โครงการพระดาบส โครงการรักษาพื้นป่าและธรรมชาติ โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ที่อาจพัฒนาเป็น e-book และอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาเคลื่อนที่ในเขตหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เพราะโครงการเหล่านี้น่าจะต่อยอดอนาคตที่มีคุณภาพดีในกลุ่มเด็กและเยาวชน

2.รัฐบาลน่าจะนำยุทธศาสตร์จัดระเบียบสังคมมาใช้อย่างจริงจังต่อเนื่องลดพื้นที่เสี่ยงรอบสถาบันการศึกษาและชุมชน เช่น สถานบันเทิงและบ่อนการพนัน และจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ขจัดพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แหล่งมั่วสุมต่าง ๆ รัฐบาลอาจจะเปิดนิมิตใหม่ในภาพลักษณ์ของความปรองดองเชิญชวน ร.ต.อ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ลงพื้นที่ร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กวดขันพื้นที่ตรวจค้นจุดเสี่ยงต่างๆ ในเขตเมือง เหมือนกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว บรรดาผู้นำประเทศเขาจะจับมือทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลช่วยกันทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงในปัญหาสำคัญที่เป็นวาระแห่งชาติหรือ Agenda ของประเทศ

และ 3.น่าจะมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพติดตามกลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลงผิดติดยาเสพติดผ่านการบำบัดแล้ว ให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม มีหน้าที่การงาน มีการศึกษาและมีอนาคตที่ดี โดยเสนอให้ติดตามประเมินผลต่อเนื่องนาน 5 ปี จนมั่นใจว่าพวกเขาเจริญเติบโตอย่างปกติสุขไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม

ทั้งนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความเห็นดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 12-24 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 12,253,191 คน ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-14 กันยายนที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ