ศอส.เตือนเหนือ-อีสานตอนบน ระวังพายุนาลแก,ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคเหนือ

ข่าวทั่วไป Tuesday October 4, 2011 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีฝนตกค่อนข้างหนักมากกระจายในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย) ภาคใต้ตอนบน พร้อมเตือนให้เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ดังนี้ ตาก (อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอท่าสองยาง) สุโขทัย (อำเภอศรีสัชนาลัย) กำแพงเพชร (อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอคลองลาน) นครสวรรค์ (อำเภอแม่เปิน อำเภอแม่วงค์) ระนอง (อำเภอกระบุรี อำเภอกะเปอร์) พังงา (อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า)

ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากสถานการณ์วิกฤต จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับพายุโซนร้อนนาลแก คาดจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 5 ตุลาคม นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 6 - 8 ตุลาคม 2554 ศอส. จึงได้ประสานจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัย และแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบปริมาณน้ำและความเร็วของกระแสน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ศอส.ได้กำชับให้เฝ้าระวังพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะบริเวณวัดไชยวัฒนาราม ป้อมเพชร เกาะเมือง โดยระดมสรรพกำลังและทรัพยากรสนับสนุนจังหวัดอย่างเต็มที่ พร้อมมอบหมายให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำร่วมกันวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำในภาคเหนือ โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์การไหลของน้ำ จะได้วางแผนเตรียมพร้อมและใช้ประโยชน์ในการแจ้งเตือนภัยแก่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง ที่อำเภอแม่วาง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ลุ่มน้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลุ่มน้ำมูล ยังมีน้ำล้นตลิ่งในหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ลุ่มน้ำชี ที่อำเภอมัญจาคีรี อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อำเภอจังหาร อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำโขง ที่อำเภอเมือง จังหวัดเลย ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ลุ่มน้ำท่าจีน ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานการณ์น้ำทรงตัว ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,524 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,578 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,441 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 95 เปอร์เซนต์ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 96 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 138 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 25 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ยโสธร และร้อยเอ็ด รวม 178 อำเภอ 1,387 ตำบล 10,708 หมู่บ้าน

ราษฎรเดือดร้อน 791,423 ครัวเรือน 2,474,128 คน ผู้เสียชีวิต 224 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 107,732 บ่อ สัตว์ได้รับผลกระทบ 8,511,689 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 168 สาย แยกเป็น ทางหลวง 47 สาย ใน 12 จังหวัด ทางหลวงชนบท 121 สายใน 20 จังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ