(เพิ่มเติม) ศปภ.เตือนพื้นที่ลุ่ม-ท่วมซ้ำซากกทม.-ปริมณฑลรับมือการระบายมวลน้ำอยุธยา

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2011 21:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)ประกาศเตือนให้ประชนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ในกรุงเทพ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และ สมุทรสาคร เนื่องจากปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้ามาผ่านพนังกั้นน้ำเข้าท่วมทุ่มรังสิตตั้งแต่คลอง 1-13 อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่โดยรอบมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น

สำหรับพื้นที่ที่ ศปภ.ระบุ จ.ปทุมธานี ได้แก่ อ.เมือง อ.คลองหลวง อ.หนองเสือ อ.สามโคก และ อ.ลาดหลุมแก้ว ซึ่งจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 50 ซม.-1 เมตร, จ.นครปฐม ได้แก่ อ.เมือง อ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน อ.ดอนตูม อ.กำแพงแสน อ.พุทธมณฑล จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึน 30-50 ซม.

จ.สมุทรสาคร ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านแพ้ว อ.กระทุ่มแบน ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 30-50 ซม. , จ.นนทบุรี ได้แก่ อ.เมือง อ.บางใหญ่ อ.ปากเกร็ด อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย อ.ไทรน้อย จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 50 ซม.-1 เมตร

ส่วนกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตคันนายาว และ เขตลาดกระบัง ระดับน้ำจะคงที่ 1-1.20 เมตร หรืออาจเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ขณะที่เขตที่เฝ้าระวังต่อเนื่อง คือ เขตสายไหมและเขตบางเขน

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนติดตามการประกาศของ ศปภ.อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีความจำเป็นต้องอพยพ ก็จะแจ้งให้ทราบโดยด่วนที่สุด ขณะนี้รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการยกระดับเสริมคันกั้นน้ำ และเพิ่มเติมแนวกั้นน้ำใหม่ที่มีความจำเป็นสำหรับการป้องกันน้ำไม่ให้น้ำไหลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้อีก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกพื้นที่

พร้อมกันนั้น ศปภ.ยังประกาศห้ามไม่ให้บุคคลใดกลับเข้าไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตรแล้ว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงห้ามการเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าระดับน้ำจะลดลงอยู่ในรดับปลอดภัย โดยทางการจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทรัพย์สินให้ และหากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่จะต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มวลน้ำที่ทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ภาคกลางตั้งแต่ จ.อยุธยาขึ้นไปมีปริมาณราว 3,600 ล้าน ลบ.ม.โดยมวลน้ำจำนวนหนึ่งประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม.ได้ไหลเข้าไปอยู่ในทุ่ง ขณะที่อีก 2,300 ล้าน ลบ.ม.นั้น ส่วนหนึ่งราว 1,200 ล้าน ลบ.ม.ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกส่วนไหลไปทาง อ.บางปะอิน อ.วังน้อย และกระจายเข้าทุ่งบริเวณใกล้เคียง 1,100 ล้าน ลบ.ม.

ยอดน้ำดังกล่าวไหลลงมาบางปะอินเข้าสู่คันคลองระพีพัฒน์ในอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที และไหลไปทางตะวันตก 100 ลบ.ม./วินาที โดยเป็นการไหลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะไม่สามารถปิดคลองข้าวเม่า คลองสาคูได้ ทำให้น้ำเติมเข้ามาตลอด

ขณะนี้น้ำไหลทะลักเข้ามาอยู่คันคลองระพีพัฒน์แยกตกตั้งแต่คลอง 1-13 และไม่สามารถโรยน้ำเข้าไปทางตะวันออกและออกสู่ชายทะเลได้ น้ำจึงอั้นอยู่ริมคันคลองเป็นเวลานาน ทำให้เมื่อคืนนี้เวลา 21.00 น.เกิดเหตุคันคลองระพีพัฒน์แยกตกขาดในช่วงคลอง 4 และระหว่างคลอง 5 ถึงคลอง 6 ส่งผลให้น้ำไหลเข้ามาในระหว่างคลองระพีพัฒน์แยกตกและคลองรังสิตพื้นที่กินบริเวณทั้งหมด 3 แสนไร่ ซึ่งระดับน้ำจะขึ้นอย่างช้า ๆ หากสูงขึ้นถึง 1 เมตร จะทำให้มีมวลน้ำอยู่ในบริเวณนี้ถึง 480 ล้าน ลบ.ม.และคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะขึ้นถึง 1 เมตร

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อยากให้ประชาชนจุดนี้โยกย้ายออกก็จะเป็นการดี เพื่อความปลอดภัย และการบริหารจัดการน้ำนั้นรัฐบาลและกรมชลจะบริหารจัดการให้ดีที่สุดเพื่อลดความเดือดร้อนของราษฎรและพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหา

"ตอนนี้คลองระพีพัฒน์และคลองรังสิตสามารถยันน้ำไว้ได้ ขอให้ประชาขนร่วมมือเพื่อบริหารจัดการน้ำตามที่วางแผนไว้ได้"นายชลิต กล่าว

ส่วนพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้มีการเฝ้าระวัง 24 ชม.ใน 7 เขตสำคัญที่ กทม.ได้แจ้งเตือนเป็นจุดเสี่ยงรับน้ำจาก จ.ปทุมธานี

พร้อมทั้ง มอบหมายให้กองทัพเสริมพนังกั้นน้ำ 3 คลองหลัก คือ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองระพีพัฒน์ และคลองหกวา เพื่อเตรียมการระบายน้ำทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำสูงถึงประมาณ 800 ล้าน ลบ.ม.จึงต้องระมัดระวังในด้านการบริหารจัดการ และเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำให้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ทางกองทัพภาคที่ 2 เข้ามาช่วยทำงานสร้างพนังกั้นน้ำและเฝ้าระวังในกรุงเทพไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถป้องกันเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ 100% หรือไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้ตามที่วางแผนงานไว้ ทางการก็ได้เตรียมแผนอพยพไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินประชาชนก็ได้ไม่สับสนอลหม่าน รวมทั้งหากพนังกั้นน้ำไม่สามารถรับมือได้ก็จะประสานกับทาง กทม.ต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ