เปิดผลงาน 3 ปี "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" เปลี่ยนกรุงเทพฯ ภายใต้นโยบาย "9 ดี 9 ด้าน" ก่อนก้าวสู่ปีที่ 4

ข่าวทั่วไป Wednesday May 7, 2025 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดผลงาน 3 ปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลงานในโอกาสทำงานครบรอบ 3 ปี ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพ สู่เมืองแห่งโอกาส และความหวัง" ว่า การขับเคลื่อนเมืองไม่สามารถทำได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ต้องเกิดจากการร่วมมือกัน โดย 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 754,004 เรื่อง จากที่มีผู้แจ้งมาทั้งหมด 929,853 เรื่อง ประชาชนมีความพึงพอใจ 81%

การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยดำเนินการจัดระเบียบไปแล้วจำนวน 446 จุด ทั่ว กทม. ผู้ค้าลดลงกว่า 5,300 ราย ทำให้ กทม. สามารถพัฒนาทางเท้าให้สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย เดินได้เดินดี และเป็นมิตรกับผู้สัญจรทุกระดับ ได้กว่า 1,100 กิโลเมตร ซึ่งต้องขอบคุณผู้ค้า ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกัน

เปิดผลงาน 3 ปี

ในส่วนของการปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่เกิดจากการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้สามารถปลูกต้นไม้ทะลุ 1.8 ล้านต้น มีสวน 15 นาทีใกล้บ้าน เพิ่มขึ้นอีก 199 แห่ง รวมทั้งมีถนนสวยกระจายทั่วทั้ง 50 เขต


*การเปลี่ยนวิกฤติ ให้เป็นโอกาส

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ในปัญหามากมายนั้น ทำให้พบโอกาสในการสะสางปัญหาด้วยวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น

- สถานการณ์ฝนตกหนักในปีแรก ทำให้ กทม.ได้สำรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งพบ 737 จุด อยู่ระหว่างการแก้ไข 221 จุด แก้ไขแล้วเสร็จบางส่วน 133 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 383 จุด

- สถานการณ์รถบรรทุกตกหลุม ทำให้เกิดมาตรการทั้งตั้งด่าน และจับน้ำหนักจากสะพาน โดยระบบจับน้ำหนักจากสะพานจับได้กว่า 1,200 คัน ส่งศาลให้ดำเนินคดี โดยศาลพิพากษาแล้ว 2 ราย ส่วนการตั้งด่านสุ่มตรวจ จับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 65 คัน

- วิศวกรอาสากว่า 130 คน ผนึกกำลังตรวจสอบอาคารหลังแผ่นดินไหว โดยตอบกลับเรื่องที่แจ้งมาใน Traffy Fondue กว่า 2 หมื่นเคส มีความร่วมมือกับ Airbnb จัดหาที่พักให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวฟรี โดยมีประชาชนมาใช้เครดิต รวม 8,540 คืน

- ความร่วมมือจากอาสาสมัคร และองค์กรจากทั่วโลก ที่เข้าช่วยค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่อาคารถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ


*เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง

กทม. มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดอุปสรรค ลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การติดตั้งสัญญาณไฟจราจร Adaptive ที่เปลี่ยนสัญญาณตามปริมาณจราจรอัตโนมัติ 72 จุดทั่วเมือง ทำให้ลดความล่าช้าในการเดินทางได้ประมาณ 15% การติดตั้งกล้อง AI CCTV 100 จุดทั่วเมือง เพื่อช่วยดูแลด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยใช้งานร่วมกับระบบการจับภาพใบหน้า เชื่อมโยงกับข้อมูลประวัติอาชญากรของหน่วยงานด้านความมั่นคง สามารถตรวจติดตาม และจับกุมบุคคลที่มีความเสี่ยงได้ทันที

รวมทั้งตรวจจับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า โดยจากสถิติสามารถเก็บค่าปรับจากผู้กระทำผิดได้กว่า 1.5 ล้านบาท จาก 4.6 แสนเคส ประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขับขี่ และใช้ทางเท้าอย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจาก AI CCTV เข้าสู่ระบบ ทำให้สามารถทราบว่าทะเบียนรถคันนี้เป็นของใคร อยู่ที่ไหน สามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า โปร่งใส มีหลักฐาน ข้อมูลแม่นยำ สามารถตรวจสอบได้


  • คนรุ่นใหม่-คนมีประสบการณ์-คนมีพลัง ร่วมช่วยสร้างเมือง

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.จะผลักดันคนรุ่นใหม่ คนมีพลัง คนมีประสบการณ์ ร่วมกันสร้างเมือง เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ รับความคิดเห็นแก้ไข พ.ร.บ.กรุงเทพฯ รวมถึงร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการจัดกิจกรรม เทศกาลตลอดปี สร้างสีสันให้พื้นที่สาธารณะทั่วเมือง

นอกจากนี้ มีการนำคนรุ่นใหม่มาช่วยทำหน้าที่ "ทูตสื่อสาร" โดยเป็นตัวแทนคนทำงานจากหลากหลายสายงาน เสริมพลังเครือข่ายสื่อสารภารกิจ กทม.สู่ประชาชน มี "สภาเมืองคนรุ่นใหม่" เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมนำเสนอนโยบายกับผู้บริหาร กทม. และเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาเมือง, โครงการ Hackathon เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ออกแบบเครื่องมือพัฒนา แก้ไขปัญหาเมือง, โครงการ Bangkok city Lab, ศูนย์กลางทดลองเมืองกรุงเทพฯ จากภาควิชาการ และประชาชน รวมถึงร่วมพัฒนาเส้นทางจักรยานร่วมกับภาคเครือข่ายจักรยาน


  • สรุปผลงานตามนโยบาย "9 ดี 9 ด้าน" ตลอด 3 ปี

1. ด้านโปร่งใสดี

- Traffy Fondue รับเรื่องร้องเรียนแล้วมากกว่า 900,000 เคส แก้ไขแล้วเสร็จกว่า 750,000 เคส เฉลี่ยเวลาในการแก้ไขปัญหา 3.5 วันต่อเคส ประชาชนพึงพอใจในการให้บริการมากกว่า 80%

- เปิดเผยข้อมูล Open Bangkok เปิดข้อมูลงบประมาณแบบ Machine Readable เปิดให้ติดตามความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ Open Budgeting ประชาชนใช้งาน data.bangkok มากกว่า 4 ล้านครั้ง

- ปรับระบบการขออนุญาต ได้แก่ ขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ทราบผลภายใน 14 วัน, BMAOSS ยกการขออนุญาตทั้งหมดเข้าระบบ ติดตามได้ ตรวจสอบได้ ไม่ล่าช้า จาก ต.ค. 67 คำขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในระบบแล้วประมาณ 3,000 เคส, ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าคำขออนุญาตได้ผ่าน LineOA กรุงเทพฯ

- แก้ปัญหาทุจริต ร่วมกับตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยดำเนินการกับข้าราชการทุจริตกว่า 28 ราย


2. ด้านเดินทางดี

- แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้แก่ การแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม กว่า 516 จุด จาก 737 จุด, เตรียมความพร้อม ลอกท่อ ลอกคลอง เปิดทางน้ำไหล เฉลี่ย 70%

- ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เช่น สร้างศาลารอรถเมล์ใหม่มากกว่า 100 แห่ง ตั้งเป้าศาลาใหม่ มากกว่า 300 แห่ง, ป้าย 500 แห่ง, ชำระหนี้สิน BTS ค่า E&M และค่าเดินรถบางส่วน รวมแล้วกว่า 37,000 ล้านบาท

- แก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ ปรับสัญญาไฟจราจรเป็นแบบ Adaptive ลดความล่าช้าได้ 15% ต่อแยก, วิเคราะห์แก้ไขปัญหาจุดฝืดไปมากกว่า 50 จุด เพิ่มความเร็วเฉลี่ย 20% ต่อจุด, ผายปากทางแยก 70 จุด

- ส่งเสริมเมืองเดินได้ ปั่นได้ มีการปรับปรุงทางเท้าไปแล้วมากกว่า 1,100 กม. เพิ่ม Bike Sharing มากกว่า 1,100 คัน เชื่อมการเดินทาง Last mile มีใช้งานกว่า 75,000 ครั้ง, พัฒนา Skywalk ย่านการแพทย์ราชวิถี สะพานเขียวเชื่อมสวนเบญจกิติ และสวนลุมพินี


3. ด้านสิ่งแวดล้อมดี

- เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้มากกว่า 1.8 ล้านต้น, พัฒนาสวน 15 นาททีที่ได้มาตรฐานเกือบ 200 สวน ขยายเวลาเปิด-ปิด สวนสาธารณะ ขยายการบริการ Pet Park

- ลด และคัดแยกขยะ สามารถลดปริมาณขยะเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โควิดมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ประหยัดค่ากำจัดขยะ 1,000 ล้านบาท ค่าเก็บขนขยะ 2,000 ล้านบาท, ผลักดันข้อบัญญัติการคัดแยกขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม, ลดค่าฝังกลบขยะจาก 700 บาท เหลือ 600 บาท ประหยัดงบประมาณกว่า 230 ล้านบาท

- แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 มีการประกาศ Low Emission Zone ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีรถมาลงทะเบียน Greenlist เกือบ 60,000 คัน, สร้างเครือข่าย Work From Home มากกว่า 100,000 คน, ให้ยืมรถอัดฟางลดการเผาตอซังครอบคลุมพื้นที่กว่า 17,000 ไร่, พัฒนาห้องเรียนปลอดฝุ่น พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนกว่า 740 ห้อง


4. ด้านสังคมดี

- ดูแลชุมชนและกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กระจายอำนาจงบประมาณให้ชุมชนเสนองบได้ 200,000 บาท/ชุมชน/ปี, จัดทำฐานข้อมูลชุมชนและสำรวจกลุ่มเปราะบาง ร่วมกับอาสาเทคโนโลยีในชุมชนส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ, สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจำนวน 15 ชุมชน มากกว่า 1,800 ครัวเรือน, BKK Food bank ส่งต่อมื้ออาหารมากกว่า 4 ล้านมื้อ, จุด Drop-in ช่วยเหลือคนไร้บ้าน ทำบัตรประชาชน ตัดผม อาบน้ำ แจกอาหารมีผู้ใช้บริการหมุนเวียนกว่า 225,640 ครั้งและได้งานทำมากกว่า 50 คน, สิ้นปีนี้เตรียมเปิดบ้านอิ่มใจ ดูแลคนไร้บ้านแบบครบวงจร, กทม.จ้างงานคนพิการ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจาก 132 คน เป็น 415 คน

- ยกระดับการบริการกีฬา-นันทนาการ ได้จัดสรรงบประมาณแบ่งสัดส่วนเน้นปรับปรุงกายภาพแทนการจัดกิจกรรม, ขยายเวลาเปิด-ปิด เพื่อให้บริการประชาชนสวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา ศูนย์นันทนการและห้องสมุด, ศูนย์กีฬา-ศูนย์นันทนาการ-ห้องสมุดมีสมาชิกมากกว่า 230,000 คน (แอพ CSTD) ผู้จองใช้งานมากกว่า 1,265,812 ครั้ง, ผู้ใช้งานลานกีฬามากกว่า 11 ล้านครั้งต่อปี, ปรับปรุงกายภาพบ้านหนังสือ 82 แห่ง, ปรับปรุงกายภาพลานกีฬา 204 แห่ง

- ส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรุงเทพกลางแปลง, Bangkok Design Week, Colorful Bangkok ฯลฯ, กิจกรรม Pride month มีคนเข้าร่วมกว่า 200,000 คนในปีที่ผ่านมา, เปิดแพลตฟอร์มจองพื้นที่สาธารณะให้คนจองจัดกิจกรรมได้สะดวกขึ้น, ดนตรีในสวน 405 ครั้งใน 15 สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ, โครงการ Bangkok Street performer มีศิลปินเข้าร่วม 555 กลุ่ม ทำการแสดงมากกว่า 8,177 รอบ, มีการขอถ่ายทำผ่านศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ฯ 159 กองถ่าย 288 พื้นที่


5. ด้านสุขภาพดี

- บริการสาธารณสุขเชิงรุก โดยเดินหน้าตรวจสุขภาพล้านคนแล้วกว่า 780,000 คน, Mobile Medical Unit ตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน มากกว่า 360,000 คน, Motorlance ช่วยลดเวลาในการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน < 10 นาที, ทำบัตรคนพิการเชิงรุกถึงบ้าน ดำเนินการแล้วกว่า 23,300 เคส, Healthtech และบริการหมอทางไกล ผู้ใช้งานกว่า 187,000 ครั้ง

- เพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยก่อสร้างและปรับปรุง รพ. รองรับผู้ป่วยนอกได้มากขึ้นกว่า 1 ล้านเคส, ขยายคลินิกนอกเวลารองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 3 แสนเคส, ปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข ความพึงพอใจของประชาชนขึ้นมาเป็น 4.67 จากคะแนนเต็ม 5, Pride Clinic ให้คำปรึกษาทุกเพศทุกวัย ไปกว่า 45,000 เคส

- ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และสัตว์เลี้ยง โดยผลักดันโครงการสุขภาพ ผ่านกองทุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากกว่า 4,900 โครงการ มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท, ส่งเสริมชมรมผู้สูงอายุ มียอดสมาชิกทะลุ 39,000 คน, 3 ปี ผ่าตัดทำหมันหมาแมวกว่า 119,000 ตัว วัคซีนพิษสุนัขบ้า 489,000 ตัว รับอุปการะไปมากกว่า 270 ตัว

- รวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ โดยเพิ่มตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 แห่งจาก กทม. และ 2,400 แห่งจากภาคเอกชน, รวบรวมและเข้าตรวจสุขอนามัยของห้องน้ำสาธารณะกว่า 5,900 แห่ง, ติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะและชุมชน มากกว่า 330 แห่ง


6. ด้านเศรษฐกิจดี

- บริหารจัดการผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยจัดระเบียบหาบเร่นอกจุดผ่อนผันมากกว่า 400 จุด ผู้ค้ามากกว่า 5,000 ราย, พัฒนาระบบ Check-in ช่วยยืนยันตัวตนผู้ค้าในจุดผ่อนผัน, จัดหา Hawker Center รองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ

- จัดหาพื้นที่ขายของ โดยเปิดจองแผงค้าออนไลน์ในตลาด กทม. ไปมากกว่า 500 แผงค้า, จัดถนนคนเดินกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้มากกว่า 19 ล้านบาท, ส่งเสริมพื้นที่การขายสินค้าชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Lazada Shopee Tiktok, เปิด Farmer Market 50 เขต และ 4 สวนสาธารณะ เกษตรกรพบผู้บริโภคโดยตรงจำหน่ายผักผลไม้ออร์แกนิก 100% มาตรฐาน Bangkok G

- ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพัฒนาเวปไซต์ visit.bangkok.go.th รวบรวมกิจกรรมท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ, ร่วมกับคนในพื้นที่พัฒนาย่านสร้างสรรค์ 55 ย่านเช่น ตลาดพลู ทรงวาด ตลาดน้อย บางลำพู

- ฝึกอาชีพ โดยโรงเรียนฝึกอาชีพ มีคนสนใจมาเรียน upskill- reskill มากกว่า 100,000 คน, เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ ตอบโจทย์ตลาดงาน เช่น ขับรถสามล้อไฟฟ้า แม่บ้านโรงแรม ตัดขนสุนัข, เปิดแพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์ร้านค้า และงาน Freelance สำหรับนักเรียนที่จบหลักสูตรโรงเรียนฝึกอาชีพ


7. ด้านปลอดภัยดี

- การเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่างมากกว่า 115,000 ดวง, ติดตั้งกล้อง AI CCTV ตรวจจับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้ากว่า 460,000 คดี, ปรับปรุงทางม้าลายไปแล้วกว่า 2,100 แห่ง, ปรับลดความเร็วสูงสุดเหลือ 60 กม./ชม., ลดการเสียชีวิตบนท้องถนนไปกว่า 9%

- เพิ่มขีดความสามารถจัดการสาธารณภัย โดยก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิงแล้ว 5 แห่ง และอยู่ในแผนอีก 6 แห่ง, ซ่อมแซมรถดับเพลิงให้พร้อมใช้งานมากกว่า 80% เพิ่มจากเดิมที่อยู่ที่ 37%, กระจายถังดับเพลิงไปมากกว่า 74,000 ถังตั้งเป้า 5 หลังคาเรือนต่อถัง, จัดทำแผนเผชิญเหตุ และฝึกซ้อมการเผชิญเหตุให้กับชุมชนเกือบ 1,200 ชุมชน, รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความพร้อมใช้งานของประปาหัวแดงกว่า 24,000 จุด


8. ด้านบริหารจัดการดี

- ประหยัดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จากการจัดซื้อจัดจ้างปี 67 กว่า 30,275 ล้านบาท

- ตั้งเป้าหมาย ติดตามการทำงาน Tight Loose Tight ตั้งเป้าหมายให้ชัด ให้อิสระในการดำเนินการ และติดตามอย่างเข้มงวด, กำหนด 32 เป้าหมายในการดำเนินการของสำนักงานเขต พร้อมติดตามผ่านระบบ policy.bangkok

- เพิ่มขีดความสามารถองค์กร กทม. โดยจัดตั้ง สำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร เพื่อตอบรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาเมือง, อบรมการใช้ AI ให้กับคน กทม. นำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน, แต่งตั้งทูตสื่อสาร นำคนรุ่นใหม่ช่วยสื่อสารการทำงานของหน่วยงาน กทม. ให้กับประชาชน

- ยกระดับการบริการให้กับประชาชน เพิ่มจุดบริการด่วนมหานครตามห้าง และตลาด 12 แห่ง รวมเป็น 20 แห่ง นำบริการ กทม. ไปหาประชาชน


9. เรียนดี

- การจัดการเรียนการสอนแบบดิจิทัลคลาสรูม โดยนักเรียน กทม.สามารถเรียนผ่านโครมบุ๊ก ทำให้คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่มขึ้น 28%

- นำเทคโนโลยีช่วยสอน ห้องเรียนดิจิทัล ปี 67 ขยาย 10 โรงเรียน ผลการเรียนดีขึ้นทุกวิชา ปี 68 ขยาย 437 โรงเรียน ระดับชั้น ป.4, ม.1 ทุกคน

- ใช้ AI ช่วยฝึกเด็กพูด/เขียน ภาษาอังกฤษดีขึ้น 37%

- คืนครูให้ห้องเรียน จ้างธุรการ 371 คน จ้าง รปภ. ทุกโรงเรียน ทำให้ครูไม่ต้องเข้าเวร ลดเอกสารการเงิน 45% เติมครูภูมิลำเนากรุงเทพฯ (ครูซ้อน) เพิ่มสวัสดิการบ้านพักครู

- พัฒนาครู สร้างครูแกนนำ เทคโนโลยี และสร้างเครือข่าย โรงเรียนแห่งการเรียนรู้ สร้างครูแกนนำ 1,400 คน ออกแบบหลักสูตร สื่อการสอน และวัดผลด้วยเทคโนโลยีได้ สร้างครูโค้ช 120 คน เข้าร่วมโครงการก่อการครู ขยายผล SLC



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ