กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า คาดว่าเกิดจากการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และพบผู้ป่วยตามฤดูกาล
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยในรอบสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ค. 68 กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วย 7,013 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยสะสม 41,197 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย
จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยคาดว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนนี้ อีกทั้งกำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมด้วย โอกาสที่จะพบการระบาดมากขึ้นจึงเป็นไปได้
ดังนั้น เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด เมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และหากมีอาการสงสัยป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย Antigen test kit (ATK) เพื่อไม่เป็นการนำเชื้อกลับไปติดกลุ่มเสี่ยง
"สิ่งสำคัญคือผู้ที่ออกนอกบ้านมีความเสี่ยงนำโรค ต้องป้องกันตนเองและระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หากมีอาการไข้ ไอ ให้สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากสงสัยป่วยควรตรวจด้วย ATK หากผลเป็นบวกให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญหากพบว่ามีความเสี่ยงหรือมีอาการป่วยควรเลี่ยงการอยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608" นพ.ภาณุมาศ กล่าว
ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 พ.ค. 68 ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสม 322,991 ราย อัตราป่วย 497.58 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 13-26 เม.ย. 68) ปัจจุบัน ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง อัตราป่วยสูงสุดพบในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี