โควิด-ไข้หวัดใหญ่พุ่งหลังสงกรานต์ สธ.ยันระบาดตามฤดูกาล ไม่รุนแรง ย้ำเตือนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 14, 2025 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โควิด-ไข้หวัดใหญ่พุ่งหลังสงกรานต์ สธ.ยันระบาดตามฤดูกาล ไม่รุนแรง ย้ำเตือนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน

กรมควบคุมโรค แถลงข่าว สถานการณ์ "โรคโควิด-19, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคแอนแทรกซ์" เพื่ออัพเดทสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพในปัจจุบันตลอดจนแนวทางการป้องกันอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง


*โควิด-19 พุ่งสูงหลังสงกรานต์

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ (1-10 เม.ย. 68) พบผู้ป่วยทั้งหมด 12,505 ราย แต่หลังสงกรานต์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 40,000-50,000 ราย ทั้งนี้ ในเคสที่เสียชีวิตจะเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยส่วนใหญ่ 84% เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ และปอดอักเสบร่วมด้วย

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยแล้วทั้งหมด 71,067 ราย เสียชีวิตแล้ว 19 ราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.03%

สำหรับสายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ คือสายพันธุ์ XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ทำให้ก่อโรครุนแรงเพิ่มขึ้น แต่มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม อย่างไรก็ดี การติดเชื้อซ้ำอาจไม่มีความรุนแรง เพราะได้รับวัคซีนมาก่อนแล้ว แต่ยังคงต้องระวังในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

"ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัวเยอะ ๆ และไม่เคยเป็นโควิด-19 มาก่อน หรือไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน อาจจะต้องพิจารณาการรับวัคซีน แต่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวให้ข้อมูลตามแต่ละเคสด้วย" พญ.จุไร กล่าว

*ไข้หวัดใหญ่

สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 68 ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบปี 66 (5 ปีย้อนหลัง) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 พ.ค. 68 พบผู้ป่วยสะสม 328,103 ราย เสียชีวิตแล้ว 33 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด อันดับ 1 ยังเป็นสายพันธุ์ชนิด A (H1N1) รองลงมาคือสายพันธุ์ B และอันดับ 3 คือสายพันธุ์ A (H3N2) โดยอัตราการป่วยตายของโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 0.01%

"ในรายที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 60 ปี หรือผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว อาทิ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา โดยส่วนใหญ่ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่" พญ.จุไร กล่าว

ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่พอหลังสงกรานต์พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และตอนนี้มีแนวโน้มลดลงแล้ว อย่างไรก็ดี ยังเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตามสถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค. 68

"ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่หน้าฝน ไวรัสทางเดินหายใจจะเพิ่มทั้งหมด ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และไวรัสอาร์เอสวี ดังนั้น เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ เบื้องต้นผู้ป่วยต้องใส่หน้ากากอนามัย และปลีกตัวออกจากสังคม เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง ขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปหากต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีความแออัด ต้องใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ" พญ.จุไร กล่าว

*แอนแทรกซ์ ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม

ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย ทั้งหมด 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยได้ติดตามผู้สัมผัสในจังหวัดมุกดาหารทั้งหมด 636 ราย ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม ไม่มีการแสดงรอยโรคทางผิวหนัง หรือมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าดูอาการที่ปอด ซึ่งจะแสดงอาการในระยะเวลา 2 เดือน ในส่วนของผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัยมีประวัติสัมผัสสัตว์ ในจังหวัดอื่น ๆ 15 ราย ซึ่งขณะนี้พบว่าผลเป็นลบทั้งหมด

ทั้งนี้ สธ. ยังมีระบบเฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์อยู่ต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในประเทศเพื่อนบ้าน (ในปี 67 มีรายงานพบในประเทศสปป.ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ดังนั้น ประชาชนยังต้องระมัดระวัง ไม่สัมผัสสัตว์ หรือทานเนื้อดิบจากสัตว์ที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุหรือไม่ทราบแหล่งที่มา โดยเน้นย้ำว่าโรคแอนแทรกซ์แพร่จากสัตว์สู่คน ไม่ได้แพร่จากคนสู่คน จึงเน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังตนเอง

"ถ้ามีอาการรอยโรคทางผิวหนัง หรือมีอาการระบบทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ หรือโรคปอดติดเชื้อ ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีการสัมผัสสัตว์กินหญ้า ซึ่งอาจเป็นพาหะของโรค ให้รีบพบแพทย์และแจ้งปศุสัตว์" พญ.จุไร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ