ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการกสทช. ชี้ใช้อำนาจถูกต้องตามกฏหมายแล้ว พร้อมตีตกข้อกล่าวหา 4 กรรมการกสทช. ที่เสนอให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ นั่งแทนนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
คดีนี้สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการกสทช. ในการประชุมครั้งที่ 30/2565 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 600 ล้านบาท สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่สัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022
ต่อมาเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รายงานผลต่อที่ประชุม กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2566 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยรองเลขาธิการ กสทช. และให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นรองเลขาธิการ กสทช. อีกคนหนึ่ง
แต่การที่ นพ.สรณ ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามมติดังกล่าว
โดยศาลปกครองกลาง มีคำวินิจฉัยว่า กรณี กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ ซึ่งแม้จะเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการกสทช.แต่ตำแหน่งเดิมคือรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีสถานะเป็น "พนักงาน" ของสำนักงาน กสทช.
การดำเนินการทางวินัยกับนายไตรรัตน์ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. ที่จะพิจารณาสืบสวนและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กสทช. ในฐานะองค์กรคณะบุคคลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้โดยตรง มติของ กสทช. ในส่วนนี้จึงเป็นมติที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม นายไตรรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในขณะนั้น ย่อมเข้ากรณีที่มีเหตุที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ เนื่องจากเป็นคู่กรณีเสียเอง อำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงต้องตกแก่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. ขึ้นตรงต่อประธาน กสทช. ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธานกสทช. จึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้
การที่นพ.สรณ ไม่ปฏิบัติตามมติของ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 ที่มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ ซึ่งเป็นมติที่ไม่มีอำนาจสั่งการได้โดยตรง จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
สำหรับในส่วนที่ให้มีการเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากนายไตรรัตน์ เป็น นายภูมิศิษฐ์ นั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.และพนักงานของสำนักงาน กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. แต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการแทน
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีคำสั่งให้นายไตรรัตน์ พ้นจากรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และไม่แต่งตั้ง นายภูมิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. ตามมติที่ประชุม กสทช. จึงไม่เป็น การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด
ทางด้านพล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จะมีการอุทธรณ์คดีต่อไป และตั้งข้อสังเกตุว่า ศาลปกครองกลาง มีการวินิจฉัยแตกต่างไปจากศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง