ไทย-กัมพูชา: ผบ.ตร. สั่งเตรียมพร้อมสนับสนุนส่วนหน้า-งัดแผนกรกฎ/67 รับมือสถานการณ์ความไม่สงบ

ข่าวทั่วไป Thursday July 24, 2025 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทย-กัมพูชา: ผบ.ตร. สั่งเตรียมพร้อมสนับสนุนส่วนหน้า-งัดแผนกรกฎ/67 รับมือสถานการณ์ความไม่สงบ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ขณะนี้ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ตนได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจภูธรภาค 2 ตำรวจภูธรภาค3 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เตรียมความพร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจตามแผนพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงภายใต้สถานการณ์ภัยคุกคามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำชับตามแผนปฏิบัติการ "พิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังและการอพยพประชาชน" ยกระดับการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ (แผนกรกฎ/67) โดยมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสอดคล้องกับภารกิจด้านความมั่นคงของรัฐ และสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ตามแผนดังกล่าวได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ดังนี้

1.ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน : ตำรวจมีหน้าที่หลักในการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ส่วนหลัง ทั้งในเขตต้นทาง เส้นทาง และปลายทางของการอพยพประชาชน โดยจะดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และสายตรวจเฝ้าระวังตลอดแนวเส้นทาง ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในจุดยุทธศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นในการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม

2.ด้านการอพยพประชาชนและการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง : ตำรวจรับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเส้นทางอพยพ การควบคุมการเคลื่อนย้ายให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ ปลอดภัย และรวดเร็ว รวมถึงการจัดกำลังเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก นักเรียน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ ตลอดกระบวนการอพยพ ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยในศูนย์พักพิงและจุดรวมพล

3.ด้านการวิเคราะห์สถานการณ์และการสืบสวนหาข่าว : ตำรวจมีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์เชิงรุกร่วมกับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคง ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อประเมินแนวโน้มภัยคุกคาม และระบุพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งดำเนินการสืบสวนหาข่าวเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล หรือกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับกองทัพบก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และทุกฝ่าย

4.ด้านการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมแผน : เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเตรียมกำลังพลและทรัพยากรให้พร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์การสื่อสาร ยานพาหนะ เครื่องมือช่วยชีวิต และระบบสื่อสารฉุกเฉิน รวมถึงดำเนินการฝึกซ้อมแผนในรูปแบบ Table Top Exercise (TTX) และ Field Simulation Exercise เพื่อทดสอบความพร้อมและสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่าย

5.ด้านการสื่อสารสาธารณะและการประชาสัมพันธ์ : ตำรวจมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ช่องทางที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น เช่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ และการลงพื้นที่พบประชาชนผ่านกิจกรรม "Stop Walk Talk" เพื่อชี้แจงสถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยขอความร่วมมือในการไม่เผยแพร่ภาพที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

6.ด้านการบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน : ในการควบคุมสถานการณ์ ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และความได้สัดส่วนของการใช้อำนาจรัฐ ห้ามเลือกปฏิบัติหรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุ พร้อมจัดทำเอกสารบันทึกการควบคุมตัวหรือการตรวจค้นอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ การสอบสวนภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายและบทสรุปของสถานการณ์

7.ด้านการประสานงานและบูรณาการความร่วมมือ : ตำรวจต้องทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานกับฝ่ายปกครอง ทหาร สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ และศูนย์บัญชาการระดับพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพและรวดเร็วในทุกสถานการณ์


แท็ก กัมพูชา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ