สทนช. เปิดศูนย์ส่วนหน้าฯ "ลุ่มน้ำยม-น่าน" คุมน้ำเหนือสู่เจ้าพระยา ลดผลกระทบประชาชน

ข่าวทั่วไป Sunday July 27, 2025 08:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ระดมทุกหน่วยจัดการจราจรน้ำที่ไหลจากภาคเหนือก่อนลงสู่อ่าวไทย โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ให้ "เขื่อนสิริกิติ์" ปรับลดการระบายช่วงฝนชุกปลายเดือน ก.ค. เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากลำน้ำยมไปยังลำน้ำน่าน พร้อมเตรียมพื้นที่ "ทุ่งบางระกำ" ช่วยหน่วงน้ำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยระบุว่า ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน "วิภา" ในช่วงนี้ และได้รายงานสถานการณ์เป็นรายวัน ให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้รับทราบ ซึ่งสั่งการให้ สทนช. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน เพื่อบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ ร่วมบริหารจัดการน้ำที่จะไหลจากพื้นที่ตอนบนของประเทศ ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยลดผลกระทบในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณฝน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน และพะเยา โดยมีปริมาณฝนสูงสุดประมาณ 70% ของพื้นที่ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2568 จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่น่าเป็นห่วง และมีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 70% มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้อีก 2,761 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะต้องวางแผนการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่ม เพื่อไม่ให้น้ำในเขื่อนเกินระดับเก็บกักน้ำสูงสุด ในขณะเดียวกัน ยังคงต้องให้เขื่อนสิริกิติ์เป็นกลไกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการมวลน้ำที่ไหลผ่านลำน้ำยม และลำน้ำน่านด้วย

นายสุรสีห์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีมติเห็นชอบให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำลงอยู่ที่ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2568 เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำยม ไปสู่ลำน้ำน่าน โดยขอให้ทุกหน่วยงาน ช่วยสนับสนุนการเร่งการระบายน้ำโดยเร็วที่สุด เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม เพื่อระบายน้ำไปให้ได้มากที่สุดในช่วง 5 วันนี้

หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณฝนลดลง ให้ กฟผ. ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่จะกลับมาอีกในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งการปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ในครั้งนี้ ได้ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ด้วย

สำหรับการเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก "โครงการบางระกำโมเดล" พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวรวม 327,000 ไร่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 91,519 ไร่ ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีก 235,481 ไร่ ซึ่งมีแผนจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568 ก็จะสามารถใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยมได้ในปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.

"จากการลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำในแต่ละจุด พบว่า ได้เตรียมการบริหารจัดการมวลน้ำ ที่คาดว่าจะมาสูงสุดในช่วงเช้าของวันที่ 27 ก.ค. โดยระบายน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองยม-น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า และอีกส่วนระบายผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ แม่น้ำยมสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะผ่านตัวเมืองสุโขทัย ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ก่อเกิดให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองสุโขทัย" นายสุรสีห์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ