เอแบคโพลล์เผยปชช.มองรบ.ไม่มั่นคงเพราะแตกแยก ยอมรบ.ทุจริตหากได้ประโยชน์

ข่าวทั่วไป Sunday November 20, 2011 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ ทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น กับความกังวลของสาธารณชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,176 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 14 —19 พฤศจิกายน 2554 พบว่า ประชาชนกังวลสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่จะทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มั่นคง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ระบุเป็นเรื่องความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 73.3 ระบุเป็นเรื่องข่าวการทุจริตคอรัปชั่นถุงยังชีพ และร้อยละ 73.2 ระบุเป็นเรื่องแนวคิดการตั้งบ่อนคาสิโน ในขณะที่ ร้อยละ 69.2 ระบุการเลือกปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัย การนำเงินช่วยเหลือแจกจ่ายให้กับกลุ่มฐานเสียงของตนเพียงกลุ่มเดียว และร้อยละ 66.6 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีปัญหาเขาพระวิหารมีอยู่ร้อยละ 55.9 และร้อยละ 33.3 ระบุเป็นเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตามลำดับ

กรณีข่าวรัฐบาลชุดปัจจุบันยื่นขออภัยโทษให้นักโทษต่างๆ นั้น พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษให้กับนักโทษในเรือนจำที่ประพฤติตนดีจะได้มีโอกาสรับอิสรภาพ และส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษในคดีทางการเมือง แต่คดีอาชญากรรมอื่นๆ นั้น ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่าผู้ที่ถูกศาลตัดสินคดีความถึงที่สุดแล้วควรเข้าสู่กระบวนการรับโทษในเรือนจำเสียก่อน เพื่อรักษาสถาบันหลักของประเทศเอาไว้

แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ทัศนคติอันตรายต่อการยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย เปรียบเทียบผลสำรวจระหว่างช่วงเดือนมกราคม กับ เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มเหมือนเดิมคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ในเดือนมกราคม และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.6 ในเดือนพฤศจิกายน ยังคงยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย

และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ร้อยละ 73.3 ในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 73.7 ในกลุ่มอายุระหว่าง 20 — 29 ปี ที่มีทัศนคติอันตรายต่อการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่ในสังคมหลายคนได้ดีมีหน้ามีตา ร่ำรวยมากมาย ก็มาจากการต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ มีอำนาจทางการเมืองก็รับเงินซื้อขายตำแหน่ง จะก้าวหน้าได้เลื่อนชั้นยศเลื่อนตำแหน่งก็ต้องจ่ายเงินหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ผู้บังคับบัญชา และจะทำธุรกิจทำเลทองก็ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาน่าเป็นห่วงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน และค้าขายส่วนตัว โดยมีสัดส่วนร้อยละ 72.8 ร้อยละ 68.1 และร้อยละ 64.7 ตามลำดับ ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้อาจยกคำโบราณมากล่าวให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองและสังคมไทยว่ากำลังอยู่ในสภาวะ ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เพราะในขณะที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมและชาวบ้านจำนวนมากหลายจังหวัดของประเทศกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว ก็มีเรื่องราวความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติซ้ำเติมสังคมไทยและความเจ็บปวดของสาธารณชนเข้าไปอีก จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลสามารถอยู่ได้ถึงแม้จะมีข่าวบริหารจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมล้มเหลว แต่ถ้าคนไทยแตกแยกรุนแรงย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลจนอาจอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น โดยมีปัจจัยเร่งที่สำคัญคือข่าวทุจริตถุงยังชีพผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมและข่าวอื่นๆ ที่แยกประชาชนออกจากกันเป็นสองฝ่ายสามฝ่าย

"ผลพวงของภัยพิบัติน้ำท่วมอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพเงินขาดมือ คนยากจนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อราษฎรประสบทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างหนักขนาดนี้ก็มักจะต้องฉวยโอกาสหรือคว้าอะไรที่จะทำให้อยู่รอดได้เอาไว้ก่อน ทางออกคือ ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ในสังคมและประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสาต้องแสดงตนเป็นตัวอย่างให้สาธารณชนเห็นประจักษ์ในคุณธรรมสี่ประการ ได้แก่ ความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเสียสละ ความกตัญญูต่อแผ่นดิน และความซื่อสัตย์สุจริต โดยเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน และออกมาปรากฏตัวต่อสังคมในวงกว้าง เพื่อประเทศชาติและประชาชนจะได้รับการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้าได้ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มเดียวแต่เพื่อความสงบสุขของคนทั้งประเทศ" นายนพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ