นักวิชาการเชื่อภัยพิบัติมาแน่ปีนี้เตือนรับมือพายุกว่า 30 ลูก,ฟลัดเวย์ยังอีกนาน

ข่าวทั่วไป Thursday January 19, 2012 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและนักวิชาการเตือนเกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในปีนี้ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เกิน 7 วัน ในเวทีสัมมนาใหญ่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)หัวข้อ"การเกษตรไทยปรับตัวอย่างไรในยุคภัยพิบัติ"

นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ แนะนำให้เกษตรกรเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีก หลังมีนักวิชาการออกมาระบุว่าในปีนี้จะมีพายุพัดเข้ามาในประเทศไทยกว่า 30 ลูก ขณะที่การเตือนภัยล่วงหน้าอย่างแม่นยำทำได้ในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น จึงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะเตรียมตัวได้ทันในเรื่องการวางแผนเพาะปลูก เพราะปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะมีมากพอๆ กับปีก่อนที่เกิดมหาอุทกภัย หรือมากกว่าราว 30-40% โดยคาดการณ์ว่า พื้นที่ภาคเหนือจะเกิดอุทกภัยอีกราวเดือน มี.ค. ส่วนพื้นที่ภาคกลางจะเป็นช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในอีก 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยแผนฯ ดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นไม่ให้เลวร้ายกว่าปีก่อน

ในแผนฯ จะมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบเตือนภัย ระบบการระบายน้ำ การพัฒนาแผนเผชิญเหตุ การปรับปรุงองค์กรบริหารจัดการน้ำ การจัดทำโครงการแก้มลิง 3 ระดับ คือ ขนาดเล็กแถบจังหวัดกำแพงเพชร ขนาดกลางแถบจังหวัดนครสวรรค์ และขนาดใหญ่แถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อชะลอน้ำไว้ 3-4 เดือนก่อนที่จะระบายออกสู่ทะเลแทนที่จะปล่อยให้น้ำหลากลงมารวดเดียว ส่วนแผนก่อสร้างเส้นทางระบายน้ำ(Flood Way) นั้นคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในอีก 5-6 ปี

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร กล่าวว่า การคาดการณ์ล่วงหน้าเรื่องพายุที่จะเข้ามาทำได้ยาก อย่างเร็วสุดก็ทำได้แค่คาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน แต่ถ้าจะให้แม่นยำก็ต้องเป็นคาดการณ์ในช่วง 3 วัน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะยังไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง แต่เชื่อว่าในปีนี้จะมีสถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นอีกแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ