โพลหอการค้าฯ ชี้เอกชนเชื่อมั่นแผนบริหารน้ำท่วมปี 55 ของรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Thursday February 16, 2012 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเขื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มีต่อการป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐ พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เกือบครึ่ง คือ 49.8% คิดว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการน้ำในปี 55 ได้ดีกว่าปี 54 โดยอีก 27.2% มองว่าเหมือนเดิม ขณะที่อีก 12% มองว่าแย่กว่าเดิม

ทั้งนี้เหตุที่นักธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลในปีนี้ เป็นเพราะเห็นว่ารัฐบาลมีความจริงจังในการทำงาน และมีประสบการณ์จากปี 54 มาแล้วซึ่งควรจะต้องทำให้ดีขึ้นไม่ซ้ำรอยเดิม ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่เชื่อมั่นนั้น เพราะดูจากผลงานการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลในปี 54 และมองว่านโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ยังไม่มีความชัดเจน และขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับความเห็นของภาคธุรกิจที่มีต่อการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในแผนบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น นักธุรกิจส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยถึง 56% แยกเป็น ไม่เห็นด้วยเลย 24% เห็นด้วยน้อย 18.8% และเห็นด้วยน้อยที่สุด 13% ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีประมาณ 44% แบ่งเป็น เห็นด้วยปานกลาง 25.3% เห็นด้วยมาก 14.7% และเห็นด้วยมากที่สุด 4.1% อย่างไรก็ดี หาก พ.ร.ก.กู้เงินไม่ผ่านการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่เกือบ 65% มองว่ารัฐบาลยังมีช่องทางในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่รัฐบาลตั้งไว้ได้

โดยทัศนะต่อสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อการป้องกันน้ำท่วมนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจเห็นด้วยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การพัฒนาทางระบายน้ำให้มีมากขึ้นและหลากหลาย รองลงมา คือ การขุดลอกคูคลอง และอันดับสาม การระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ เพื่อรับน้ำใหม่ ขณะที่เรื่องการปลูกป่าและพืชซับน้ำนั้น แม้ภาคธุรกิจจะเห็นด้วยแต่มองว่าในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่ 33.6% เชื่อว่ามีโอกาสที่ในปีนี้จะเกิดน้ำท่วมมากกว่าปี 54 ถ้าหากรัฐบาลบริหารจัดการได้ไม่ดี รองลงมา 25.9% เชื่อว่ามีโอกาสท่วมน้อยกว่าปีก่อน และอีก 17.9% มองว่าเท่ากับปีที่แล้ว โดยมีเพียง 4.7% ที่เห็นว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมเลย พร้อมมองว่าความพร้อมของรัฐบาลในการป้องกันน้ำท่วมปีนี้ยังอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 54 พบว่ามีภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบประมาณ 65% ซึ่งแบ่งเป็นผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ภาคธุรกิจอีกประมาณ 35% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ผลกระทบที่ได้รับส่วนใหญ่จะเกิดกับกำไรมากที่สุด รองลงมากระทบกับยอดจำหน่าย และยอดคำสั่งซื้อ โดยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ถึง 87.7% ระบุว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐบาล มีเพียง 12.3% ที่ระบุว่าได้รับการเยียวยาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงิน 5,000 บาท, ถุงยังชีพ, การช่วยซ่อมแซมเครื่องจักร และช่วยด้านภาษีนำเข้า เป็นต้น โดยภาคธุรกิจส่วนใหญ่ 60% พอใจกับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่อีก 40% พอใจน้อย

นอกจากนี้ธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า การดำเนินธุรกิจจะเริ่มฟื้นตัวเป็นปกติได้ราวไตรมาส 2 ของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดจำหน่าย, ต้นทุน, แหล่งวัตถุดิบ, สต๊อกสินค้า, จำนวนแรงงาน และกำลังการผลิต แต่สิ่งที่ฟื้นช้าที่สุดคือ กำไรจากการประกอบธุรกิจ ที่คาดว่ากว่าจะกลับมาเป็นปกติน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โดยรวมแล้วนักธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นต่อแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในปีนี้ และมีการตอบสนองในเชิงบวกต่อแผนบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ประกอบกับตลอดทั้งสัปดาห์นี้ได้เห็นภาพของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อดูแลเรื่องบริหารจัดการน้ำตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งทำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการป้องกันและรับมือกับปัญหามากขึ้น “คนส่วนใหญ่ตอบสนองแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในเชิงบวก แต่ก็ยังรอที่จะเห็นให้เป็นรูปธรรมว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ทั้งแผนการขุดคลอง ประตูระบายน้ำ แหล่งรับน้ำต่างๆ...และผลจากที่นายกฯ ไปทัวร์นกขมิ้น ก็มองให้เห็นความจริงจังของรัฐบาลมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ในภาพรวมนั้น นักธุรกิจเชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเห็นการฟื้นตัวได้ราวปลายไตรมาส 2 และกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ใดเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม ก็ยังน่าจะทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4.5-5%

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำ คือ 1.ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติและควรดำเนินตามโครงการพระราชดำริ 2.ขุดคูคลองและจัดการระบบระบายน้ำให้น้ำเดินทางได้สะดวก เช่น ลอกท่อ กำจัดขยะ 3.ดูแลไม่ให้เกิดคอรัปชั่น และนำเงินที่ได้จากภาษีประชาชนมาบริหารให้ผู้ที่จ่ายภาษีไม่เดือดร้อน 4.ควรแจ้งข่าวสารระดับน้ำให้ประชาชนทราบโดยตลอด และควรแจ้งเตือนก่อนจะเกิดเหตุ 5.มีบทลงโทษอย่างจริงจังและขั้นหนักสำหรับผู้ที่ตัดไม้ทำลายป่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ